แนะกิน 'สุก ร้อน สะอาด' ป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

แนะกิน 'สุก ร้อน สะอาด' ป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

กรมควบคุมโรค แนะประชาชนและผู้ประกอบอาหารเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่สดใหม่ ได้มาตรฐาน และยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า    จากกรณีที่มีผู้ต้องขังป่วยและเสียชีวิตในเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับอาหาร นั้น กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้กองระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อสอบสวนโรค รวมถึงดำเนินการเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ในเรือนจำดังกล่าวแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

แนะกิน \'สุก ร้อน สะอาด\' ป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนระมัดระวังการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็ง ที่บริโภคอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ระวังป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษ เป็นต้น  โดยขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหารหลังเข้าห้องน้ำและสัมผัสสิ่งสกปรก ในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว ขอให้สำรวจอาหารก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ ส่วนอาหารที่กลิ่น รส หรือรูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบดิบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก เพราะเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ อันตรายอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้

ส่วนการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ในการประกอบอาหาร ขอแนะนำประชาชนและผู้ประกอบอาหาร ดังนี้ 1.ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่สดใหม่ และสะอาด จากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์  2.การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรเลือกเนื้อที่มีสีชมพู ไม่ใช่สีแดงสดมากเกินไปเพราะอาจผสมสีหรือใส่สารเร่งเนื้อแดง ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว มีสีเขียวหรือสีคล้ำ เพราะหากสีของเนื้อหมูมีสีที่ซีดเซียวก็อาจจะเป็นเนื้อหมูที่ค้างคืนมาแล้ว  3.แนะนำให้กดเนื้อหมูดูความสด ซึ่งเนื้อหมูต้องกดแล้วไม่บุ๋มหรือยุบตัว เนื้อหมูนั้นจะต้องเด้งกลับขึ้นมาปกติ แบบนี้จะเป็นหมูที่สดใหม่  4.หากต้องการเนื้อหมูบด อาจเลือกเป็นชิ้น แล้วนำมาบดหรือสับเอง เพื่อให้มั่นใจว่าได้หมูบดจากเนื้อหมูในส่วนที่ต้องการนำมาประกอบอาหาร  และ 5.ควรแยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูดิบและสุกออกจากกัน รวมถึงเขียงที่ใช้หั่นวัตถุดิบควรทำความสะอาดก่อนใช้ใหม่ทุกครั้ง  ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422