จุฬาฯเปิดรายวิชา GenEd ช่วยนิสิตค้นหาตนเอง

 จุฬาฯเปิดรายวิชา GenEd ช่วยนิสิตค้นหาตนเอง

บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่มักจะวางแผน เติมเต็มศักยภาพให้แก่เด็ก โดยที่ตั้งโจทย์ว่าเด็กควรรู้สิ่งนั้น สิ่งนี้ ทว่าด้วยเทคโนโลยี โลกดิจิตอลทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูล แหล่งเรียนรู้ สิ่งที่ตนเองอยากเรียนรู้ หรือผู้ใหญ่อยากให้รู้ได้อยู่แล้ว

หน้าที่ของสถาบันการศึกษาในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงให้ความรู้แก่นักเรียนนิสิตนักศึกษา แต่ต้องสร้างทักษะด้านสังคม ทักษะการใช้ชีวิตร่วมด้วย 

ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำหน้าที่จัดการศึกษาหมวดวิชาศึกษาทั่วไปของจุฬาฯ หรือ General Education (GenEd) รายวิชาที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศต้องกำหนดขึ้นในระดับปริญญาทุกหลักสูตร นิสิตนักศึกษาทุกคนต้องได้เรียนโดยส่วนของจุฬาฯ กำหนดให้นิสิตต้องเรียนวิชาศึกษาทั่วไป 2 หมวด ที่อยู่นอกเหนือวิชาชีพของนิสิตหมวดละอย่างน้อย 6 หน่วยกิต ประกอบด้วยวิชาแกน 3 หน่วยกิต และวิชาเลือกอีก 3 หน่วยกิต รวมเป็น 12 หน่วยกิต ซึ่งนิสิตจะต้องลง GenEd ให้ครบ 30 หน่วยกิต

157848899081

รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ ประภัสระกูล ผอ.ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาฯ กล่าวว่าการศึกษาทั่วไป ถูกแยกออกมาจากตัวหลักสูตร ซึ่งในส่วนของจุฬาฯ มีการบริหารรายวิชาศึกษาทั่วไป มากว่า 40 ปี แต่ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมในแง่ของผู้ใช้บัณฑิต ทำให้โจทย์การวางคาแรคเตอร์ของเด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ทุกคนอยากได้บัณฑิตที่มีทักษะด้านอารมณ์ หรือ Soft Skills แตกต่างไปจากเดิม

จุฬาฯ จึงมองว่า กลุ่มการเรียน Soft Skills สังคมต้องการอะไร? ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาของรายวิชาศึกษาทั่วไป โดยเน้นของดิจิตอล การเป็นผู้ประกอบการ แนวคิดด้านความคิดของนิสิตที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม การทำงานร่วมกัน และการลดความเครียดในระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิต

157849342672

ป้าหมายของการเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป แตกต่างจากอดีต ปัจจุบันจุฬาฯ มีรายวิชาศึกษาทั่วไป มากกว่า 380 วิชา ที่นิสิตสามารถเลือกรายวิชาที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เมื่อก่อนนิสิตจะเลือกตามศาสตร์ ตามหมวดหมู่เพื่อเก็บหน่วยกิตให้ครบ แต่ตอนนี้นิสิตต้องค้นหาตัวเองก่อนว่าชอบแบบไหน สนใจเรื่องใด และมาเลือกรายวิชาทั่วไปที่สอดคล้องกับความต้องการ หรือเหมาะสมกับตัวเอง

โดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้งไม่ใช่สนใจเรื่องเกรด คะแนน เพราะการเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปจะเป็นการเสริมทักษะเพื่อตัวเด็กเองเป็นหลัก ดังนั้น เรื่องของผลการประเมินจะคิดเพียงผ่านไม่ผ่าน เพื่อให้อิสระในการเลือกกับเด็กมากขึ้น

157848867266

 “เราอยากให้นิสิตอยู่เป็น อยู่ได้ในสังคม เพราะตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และอนาคตอาจจะมีการยุบคณะ/สาขาต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งตอนนี้ถ้าแบ่งกลุ่มคณะ/สาขาจะแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ กลุ่มวิชาสหศาสตร์ และกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ แต่ต่อไปจะเน้นเรื่องดิจิตอล เทคโนโลยีมากขึ้น ต้องมีการเปลี่ยนทั้งระบบ และคนที่อยู่ในระบบต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง จะคิดแบบเดิมทำแบบเดิมไม่ได้ รวมถึงไม่ควรหยุดนิ่ง รายวิชาศึกษาทั่วไปจะเติมเต็ม สอนให้เด็กมีทักษะการใช้ชีวิต ทักษะด้านสังคมมากขึ้น”ผอ.ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาฯ กล่าว

ระบบการศึกษาไทยอาจจะไม่สามารถคัดกรองคนตามที่สถาบันการศึกษาต้องการมาอยู่ร่วมกันทั้งหมด ดังนั้น สถาบันการศึกษาต้องทำให้เด็กที่มีความหลากหลาย มีอัตลักษณ์ของตนเอง ค้นหาความเก่งของเด็กแต่ละคน และทำให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้

รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ล่าวอีกว่า การเข้าถึงความรู้ การเข้าถึงสังคมเทคโนโลยีช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กทุกคนต้องมีและต้องทำให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก คือ การรู้จักตนเอง และพยายามหาจุดเด่นของตนเองโดยที่ไม่พยายามนำตัวเองไปเปรียบเทียบจุดเด่นของคนอื่น รวมถึงรู้เท่าทัน คิดวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลข่าวสาร และเรื่องราวที่ตนเองเสพได้ 

157848866678

ซึ่งจริงๆเด็กรุ่นใหม่มีความฉลาด ความรู้ ปรับตัวได้เร็ว แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต้องมีการพิจารณาอย่างลึกซึ้ง และมีสติมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ สถาบันการศึกษาต้องเพิ่มเติมให้แก่เด็ก อาจารย์ผู้สอนต้องหาความรู้ใหม่ ไม่ใช่อยู่เฉพาะในตำราเรียน และต้องหาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการเรียนการสอน การใช้สื่อโซเซียลมีเดียร่วมในกระบวนการเรียนการสอน การประเมิน การเช็คชื่อ การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเด็ก และให้นิสิตมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น

“ปัจจุบันมีรายวิชา มีเนื้อหามากมายให้เด็กได้เรียนรู้ แต่เนื้อหาใดถูกหรือผิด ยังไม่มีใครตอบเด็ก ดังนั้น การสร้างให้เกิดสภาวะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องทำให้เด็กคิดวิเคราะห์ แยกแยะให้ได้ กระบวนการเรียนแม้เนื้อหาจะซ้ำ แต่การวิเคราะห์ แยกแยะไม่เหมือนกัน เพราะนิสิตแต่ละคนพื้นฐานไม่เท่ากัน โดยรายวิชาศึกษาทั่วไปที่มีนิสิตเลือกเรียนมาก คือ สมาธิเพื่อชีวิต สีชังศึกษา และการนำเสนออย่างมืออาชีพ”รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ กล่าว

157848867162

นายปวัญฉัตร พุทธพิทักษ์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่าเลือกเรียนวิชาทั่วไปตามความสนใจของตนเองเป็นหลัก เช่น เรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของคนญี่ปุ่น ทำให้เข้าใจวัฒนธรรม ความเป็นคนญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งก็นำมาประยุกต์ในการเรียนสาขาการตลาด วิชาเอกที่ต้องเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าในแต่ละเชื้อชาติ และการเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป เป็นการออกจากพฤติกรรมหรือสิ่งแวดล้อมที่เราคุ้นชิน (Comfort zone) เป็นสิ่งใหม่ ตนเองได้เรียนรู้ความท้าทาย ทักษะใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากองค์ความรู้ด้านวิชาชีพ

ขณะนี้มีนวัตกรรมมากมายให้ได้เรียนรู้ แต่ระบบการศึกษาทำให้เด็กเรียนรู้เพื่อได้เกรดคะแนนที่ดี มากกว่าเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริงๆ ดังนั้น อยากให้ระบบการศึกษาที่จะชี้ให้เห็นว่านวัตกรรมต่างๆ หรือเทคโนโลยี ข้อมูลที่มีอยู่มากมาย ว่าจะนำไปปรับใช้ในชีวิต อนาคตได้อย่างไร เพราะเด็กทุกคนถ้ารู้ว่าสิ่งนี้มีประโยชน์ พวกเขาก็พร้อมจะเปิดรับ สอนให้เห็นโลกของความเป็นจริง ชีวิตจริงมากขึ้น ให้ลองเผชิญปัญหา ห้องเรียนเป็นห้องจำลองชีวิตจริง สถานการณ์จริง ให้ทุกคนได้ลงมือปฏิบัติจริง” นายปวัญฉัตร กล่าว

157848867037