จะเป็นอย่างไร หากย้ายข้อมูลขึ้นไปบนคลาวด์
เทรนด์ของคลาวด์ค่อนข้างมาแรง หลายองค์กรปรับการเก็บข้อมูลมาสู่แพลตฟอร์มนี้มากขึ้น คำถามตามมาคือ แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป และจะมีความปลอดภัยหรือไม่
เทรนด์คลาวด์ตอนนี้มาชัดมาก ข้อมูลของเรา ทุกๆ อย่างตอนนี้เก็บอยู่บนคลาวด์หมดแล้ว ตั้งแต่ที่เราเปิดโทรศัพท์ขึ้นมาใช้ หากใช้ iPhone ที่ต้องล็อกอินด้วย Apple ID ก็มี iCloud หรือใช้ Android ทุกอย่างที่มีก็ต้องล็อกอินด้วย Google Account เมื่อล็อกอินแล้ว ข้อมูลทุกอย่างของเราก็จะถูกเก็บไว้บนคลาวด์ทั้งหมด และคลาวด์เหล่านี้จะอยู่ที่ต่างประเทศ ที่ว่ามาเป็นการใช้คลาวด์แบบบุคคลทั่วไป แต่ที่เห็นในตอนนี้ภาคธุรกิจก็เริ่มหันมาใช้คลาวด์มากขึ้น
รายได้ของธุรกิจคลาวด์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Amazon, Google, Microsoft ฯลฯ โตขึ้นอย่างมหาศาล ถือเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้ Amazon อย่างมาก เพราะที่ผ่านมาธุรกิจของ Amazon เองไม่ได้ทำกำไรเท่าไหร่ จริงๆ ถ้าดูจาก sizing ของบรรดาบริษัท Tech company ใหญ่ๆ ตอนนี้กำไรล้วนมาจากคลาวด์แทบทั้งนั้น
ข้อมูลรายได้ของคลาวด์จาก AWS ปีที่แล้ว ในไตรมาสแรกมีรายได้ประมาณ 5,300 ล้านดอลลาร์ ปรากฏว่าในปีนี้รายได้โตขึ้นมาถึง 40% คือ 7,000 กว่าล้านดอลลาร์ ส่วน Microsoft รายได้ของคลาวด์โตขึ้นมา 75% และ Google รายได้ฝั่งคลาวด์โตถึง 83% จัดว่าเป็นรายได้ที่คุ้มค่ามาก เพราะธุรกิจของเขาต้องลงทุนในเรื่องนี้อยู่แล้ว และนี่ก็เป็นรายได้จากการแบ่งให้คนอื่นใช้ แต่การอยู่บนคลาวด์ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง เช่น อาจมีเหตุการณ์อย่าง Google ล่ม แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับการที่เราทำเซิร์ฟเวอร์เอง
ตอนนี้ทุกธุรกิจจะหันมาทำบนคลาวด์เกือบหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว โรงพยาบาล ฯลฯ แนวโน้มนี้เห็นได้ชัดว่า ต่อไปในอนาคตธุรกิจคลาวด์ หรือการเก็บข้อมูลทั้งหมด จะไปรวมอยู่ที่เพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น นั่นคือ Amazon, Google, Microsoft และที่กำลังจะมาก็คือ Alibaba และ Tencent ค่ายจีนก็กำลังเริ่มเข้ามาแล้ว
เราคงหลีกหนีเทรนด์นี้ไม่ได้ ต้องยอมรับว่าข้อมูลของทุกบริษัทจะขึ้นไปอยู่บนคลาวด์หมด เพราะบริษัทต่างๆ เริ่มเอาซอฟต์แวร์เข้ามาใช้ และซอฟต์แวร์ยุคใหม่ๆ จะเป็นซอฟต์แวร์ที่อยู่บนคลาวด์ทั้งนั้น ตัวอย่างการใช้คลาวด์ อย่างบางคนที่เคยลงซอฟต์แวร์เกี่ยวกับบัญชีไว้ที่บริษัท แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะซอฟต์แวร์บัญชีเริ่มเป็นคลาวด์มากขึ้น หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์เกี่ยวกับงานบุคคล HR ก็มีมากมายจริงๆ และตอนนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยก็หันไปใช้ซอฟต์แวร์บนคลาวด์มากขึ้น
ซอฟต์แวร์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ ข้อมูลส่วนใหญ่แทบไม่ได้เก็บอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ไทย และในอนาคตจะไปอยู่บนคลาวด์และอยู่ภายใต้ผู้ให้บริการเพียงไม่กี่รายจริงๆ ต้องยอมรับเลยว่าบางธุรกิจก็อาจจะหายไปด้วย และจะไปอยู่ในมือต่างชาติแบบเบ็ดเสร็จด้วย
คำถามว่า ในเรื่องของข้อมูลจะมีความเสี่ยงด้วยหรือไม่ แม้ว่าต่อไปการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ จะง่ายมากขึ้น แต่ก็จะมีระบบป้องกันความเสี่ยง หรือ security ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย อย่างตอนนี้มีเครื่องมือในการล็อกการเข้าถึงต่างๆ เช่น ในโทรศัพท์มือถือจะมี OTP และต่อไปจะมี fingerprint บ้าง retina scan บ้าง ระดับของการรักษาความปลอดภัยจะมีมากขึ้นๆ
แต่โอกาสของการรั่วไหลของข้อมูลก็อาจมีด้วยเหมือนกัน เพราะว่าข้อมูลจากเดิมจะถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของบริษัท เมื่อแนวโน้มบริษัทต่างๆ จะมาใช้คลาวด์มากขึ้น หากการบริหารไม่ดีพอโอกาสที่ข้อมูลจะออกไปข้างนอกก็เกิดขึ้นได้
ฉะนั้นบริษัทต่างๆ ต้องกลับมาดูว่านโยบายหรือกฎต่างๆ ที่มาดูแลข้อมูลเหล่านี้จะทำอย่างไรได้บ้าง อย่างบริษัทที่เป็นพวกธนาคาร สถาบัน การเงิน พวกนี้มีกฎระเบียบที่รุนแรงมาก เช่น เมื่ออยู่ในธนาคารห้ามแชร์ข้อมูล หรือห้ามเข้า dropbox หรือ google drive เด็ดขาด ต้องกลับมาดูว่าบริษัทของคุณมีการบริหารข้อมูลเหล่านี้ดีหรือยัง
หากคุณต้องการใช้ซอฟต์แวร์สักตัวแล้วจะมาติดตั้งในบริษัท ผมบอกได้เลยว่าหมดยุคของการมาติดตั้งแล้ว เพราะแนวโน้ม ของการใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ ในธุรกิจยุคนี้เป็นคลาวด์จะดีกว่า ง่ายกว่า แต่การใช้งานแบบคลาวด์ก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อย ข้อดีคือ จัดการง่าย แต่หากจัดการไม่เป็นโอกาสที่ข้อมูลอาจหลุดรั่วออกไป ข้างนอกได้เหมือนกัน