เมื่อสื่อทำร้ายเด็ก หน้าที่ VS ความรับผิดชอบ ?
เหตุรุนแรงกรณีปล้นร้านทอง จ.ลพบุรี ที่กลายเป็น สื่อละเมิดสิทธิเด็ก สู่คำถามถึงเส้นแบ่งของความเหมาะสมของการรายงาน และความรับผิดชอบ
นอกจากคำสาปแช่งที่ระงมบนหน้าฟีดในโซเชียลมีเดีย ทันทีที่สังคมไทยได้รู้ถึงการบุกปล้นร้านทองในห้างแห่งหนึ่งที่ จ.ลพบุรี ส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิต 1 ราย เมื่อคืนวันที่ 9 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
สิ่งที่เกิดตามมาในทันทีก็คือ การแห่กันแชร์เรื่องราว ภาพ และคลิปของเหตุการณ์มากมายในออนไลน์
นอกจากการรายงานความเคลื่อนไหว ให้ข้อมูล และแสดงความเห็นต่อความเลวร้ายของเหตุการณ์แล้ว ยังนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของรายละเอียดในโพสต์ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับเด็กในเหตุรุนแรงอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่
หากดูจากแบบสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคและอุตสาหกรรมสื่อไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะพบว่า ในปี 2562 ทั้งสื่อ และผู้บริโภคต่างเข้ามาอยู่ในออนไลน์มากขึ้นอย่างชัดเจน โดยช่องทางติดตามข่าวสารจากสำนักข่าว (ทุกช่องทาง) มีสัดส่วน 45.2% แชร์จากสังคมออนไลน์ 20.5% โซเชียลมีเดียของนักข่าว 16.6% แอพพลิเคชั่น/เว็บไซต์รวมข่าว 10.8% ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต 6.9% ซึ่งกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น สื่อออนไลน์มักจะกลายเป็นจุดหมายแรกที่ผู้คนมุ่งไปหา "ข้อเท็จจริง" ตลอดจน "ส่งต่อ"
อย่างกรณีปล้นร้านทองใน จ.ลพบุรี เมื่อช่วงค่ำวันที่ 9 มกราคม 2563 ทันที่ที่เกิดเหตุ ได้มีการติดแฮซแท็กในทวิตเตอร์ #กราดยิงปล้นร้านทอง จนถึงช่วงเที่ยงของวันที่ 10 มกราคม 2563 มีการรีทวิตไปแล้วกว่า 6 แสนครั้ง ขณะที่เพจออนไลน์ต่างๆ โพสต์เนื้อหา ภาพ และวิดีโอเหตุการณ์ ยอดไลค์ และยอดแชร์ก็ล้วนขึ้นระดับหลักพันแทบทั้งสิ้น โดย "ฝ่ายสถิติและพัฒนาระบบเครือเนชั่น" ได้ทำการรวบรวมการแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวบนโซเชียลมีเดียทั้งหมดจนถึงช่วงเที่ยงของวันที่ 10 มกราคม 2563 พบว่า มีการแชร์เนื้อหาบนเฟซบุ๊คราว 976 รายการ และมียอดแชร์ไปกว่า 1,413,257 ครั้ง
อย่าง เพจ "อีจัน" โพสต์วิดีโอพร้อมพาดหัว "เปิดนาทีเหี้ยม ไอ้โม่งปล้นร้านทอง ยิง 5 ศพ" มียอดไลค์ 9.6 หมื่น แชร์กว่า 5.8 หมื่นครั้ง หรือ โพสต์ "#เหยื่อไอ้เหี้ยมปล้นทองลพบุรี R.I.P. เด็กชาย 2 ขวบ" ก็กวาดยอดไลค์ยอดแชร์ไปนับแสน
เพจไทยรัฐ โพสต์ พ่อแม่ "น้องไทตัล" เหยื่อโจรปล้นร้านทองแทบขาดใจ ก็ได้ยอดไลค์ไปกว่า 5 หมื่น ยอดแชร์อีกราว 4 พันครั้ง เพจสปริงนิวส์ โพสต์ถึงภาพอาวุธที่คนร้ายใช้ในการก่อเหตุ ก็เก็บยอดไลค์ไปกว่า 6 พันไลค์ ยอดแชร์อีกกว่า 2 พันครั้ง กระทั่งเพจของเหล่าคนดังในโลกโซเชียลก็ล้วนมีการไลค์ และแชร์กันหลักหมื่นด้วยเหมือนกัน
สิ่งที่ตามมาก็คือเกิดความเข้าใจผิด และความคลาดเคลื่อนของข้อมูลข่าวสาร ทั้งจำนวนของผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ ลักษณะบ่งชี้ของคนร้าย หรือแม้กระทั่งทำให้ ผู้สื่อข่าวที่กำลังรายงานข้อมูลในพื้นที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นมือปืน!
รวมทั้งการเผยแพร่ภาพ และคลิปของเด็กที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ ที่นำไปสู่ข้อถกเถียงเรื่องการนำเสนอตามหน้าที่ของสื่อมวลชน (และผู้ที่มีสื่อในมือ) หรือการกระทำซ้ำเติมความรู้สึกผู้สูญเสียด้วยการโพสต์ หรือแชร์ข่าวซ้ำๆ เหล่านี้
ซึ่งเรื่องนี้ ทางกรมสุขภาพจิต และองค์กรวิชาชีพได้ออกมาขอความร่วมมือในการงดนำเสนอหรือส่งต่อภาพความรุนแรง รวมถึงภาพผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงใน จ.ลพบุรี เพื่อป้องกันความหวาดวิตกของคนในสังคม และเป็นการเคารพและให้เกียรติต่อผู้ที่เสียชีวิตและครอบครัว
ประเด็นการละเมิดเด็กและเยาวชนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ แม้ทางผู้ให้บริการอย่าง เฟซบุ๊คจะออกเป็นนโยบาย มาตรฐานชุมชนเกี่ยวกับพฤติกรรมรุนแรงและอาชญากรรม ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหาย-ผู้ก่ออาชญากรรม" เป็นเนื้อหา และข้อมูลที่ไม่อนุญาตให้เผยแพร่ แต่ก็มีจุด "ผ่อนปรน" ตรงที่ หากเป็นข้อบังคับนโยบายทางการค้าก็สามารถเผยแพร่ได้ ซึ่ง "อาวุธ" ก็อยู่ในข่ายนี้
ขณะเดียวกันในรายละเอียดดังกล่าวก็ได้เผย "ช่องโหว่" ที่ทำให้เนื้อหา และข้อมูลสามารถเผยแพร่ได้ อย่าง "การเตือนภัย สร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณะ" หรือแม้แต่ "ประณามกิจกรรมอาชญากรรม" ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับหลักการรายงานข่าวของ Unicef ที่กำหนดแนวทางไว้ ไม่ว่าจะเป็น "การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของเด็กในทุกสถานการณ์", "ให้หลักประกันต่อสิทธิต่างๆ ของเด็กเป็นพิเศษ เช่น สิทธิการเป็นส่วนตัว สิทธิในการไม่เปิดเผยข้อมูล สิทธิในการปกป้องผลกระทบ", "ปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของเด็กในทุกสถานการณ์" และ"อย่านำเสนอเรื่องหรือภาพที่อาจทำให้เด็ก ญาติ หรือเพื่อนๆ ต้องตกอยู่ในอันตรายแม้จะปกปิดตัวตนแล้วก็ตาม" ทั้งหมดล้วนสุ่มเสี่ยงการนำไปสู่การละเมิดสิทธิเด็กโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจได้แทบทั้งสิ้น
ดร.ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล จากคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยทำการศึกษาเรื่อง “บทบาทหน้าที่ของปฏิกิริยาตอบกลับของผู้ใช้ facebook ต่อการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสิทธิเด็กผ่านทาง facebook สำนักข่าวออนไลน์” ซึ่งได้เผยงานวิจัย “รู้ทัน ป้องกันเด็กและเยาวชนผ่านโลกสื่อออนไลน์” พบว่า
การนำเสนอข่าวเด็กบนช่องทางเพจเฟซบุ๊คของสำนักข่าวยอดนิยม 3 แห่ง (อ้างอิงจากผู้ติดตามสูงสุด) ในระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ กรกฎาคม จนถึง ธันวาคม ของปี 2560 มีข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งสิน 1,617 ข่าว พบว่า มีข่าวที่มีการละเมิดสิทธิเด็กเป็นจำนวนมาก ที่ผิดต่ออนุสัญญาสิทธิเด็กที่สะท้อนบทบาทที่ไม่พึงประสงค์ค่อนข้างสูง
ข่าวที่ละเมิดสิทธิเด็กสูงสุด คือ ข่าวที่มีการทารุณกรรมต่อจิตใจเด็ก 780 ชิ้น รองลงมาเป็นการนำเสนอข่าวโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์เด็ก 711 ชิ้น และไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็กที่ไม่เป็นธรรม 16 ชิ้น ข่าวที่พึงปรารถนา 110 ชิ้น ซึ่งไม่ได้มีเพียงสื่อมวลชนที่ละเมิดสิทธิเด็ก ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ก็ละเมิดสิทธิเด็กด้วย จากการแชร์ข้อมูลข่าวสาร การแสดงอารมณ์ด้วยการไลค์ และการแสดงความคิดเห็น อาจเป็นการละเมิดสิทธิเด็กโดยไม่รู้ตัว
ด้าน บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกความเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับการนำเสนอเนื้อหาที่เข้าข่ายละเมิดหลักการ และการกำกับดูแลกันขององค์กรสื่อในปัจจุบันนั้น ต้องยอมรับว่า สมาชิกเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือให้ความเคารพในกฎกติกาในการกำกับดูแลกันเอง ถึงแม้จะเป็นการเซ็นเซอร์ด้วยความสมัครใจก็ตาม อย่างในกรณีนี้ คือ การรายงานความรุนแรง เมื่อการรายงานเป็นหน้าที่ของสื่อ ประเด็น คือ สื่อแต่ละแห่งรายงานอย่างไร ที่จะไม่ไปเสริมความรุนแรง
"บางช่องอาจจะมีเบลอ บางช่องก็ไม่เบลอ บางช่องนำไปตัดต่ออีกทีเพื่อที่จะไม่ให้เห็นภาพที่มันชัดเจนว่า มันเป็นความรุนแรง ความโหดร้ายทารุณ นอกนั้นพอเห็นแล้วปล่อยทันที มีอีกคลิปที่เป็นภาพแม่อุ้มเด็กแล้วร้องไห้ คลิปก็ออกไปหมดทั้งสื่อที่เป็นสื่อมวลชน และสื่อเชิงพาณิชย์ สื่อเชิงพาณิชย์คืออีจัน เป็นต้น และสื่อก็นำคลิปนั้นไปใช้ในข่าว พร้อมกับรายงานตามที่เห็นในคลิป"
เขามองว่า คำถามที่น่าสนใจสำหรับวันนี้คือ นโยบายบริหารสื่อวันนี้เป็นอย่างไร
"ปัญหาของสื่อวันนี้ คือ เจ้าของสื่อ ผู้บริหารสื่อ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่เช่นนั้นปัญหาแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น มีเพียงแค่บางสื่อที่ผู้บริหารบอกว่าไม่ให้ทำ และพร้อมออกมาร่วมสนับสนุนว่า ถ้าใครทำอย่าไปดู และถ้าเขาทำอย่ามาดูเขา
10 ปีที่ผ่านมา การแผยแพร่ข่าวที่มีความถูกต้องมาก่อนความเร็ว มันเป็นเรื่องๆ เป็นระยะๆ มันเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ได้หายไป ประเด็นทางจริยธรรม ความรุนแรงมันเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันแรกที่สื่อ 24 ช่อง สามารถออกอากาศได้ เงินโฆษณาหายไปอยู่ที่สื่อดิจิทัล นำไปสู่ความอยู่รอดทำให้ทำได้ทุกอย่างโดยไม่คำนึง และแย่ลงกว่าเมื่อก่อน"