'5จี' กับการเปลี่ยนแปลง
เทคโนโลยีเปลี่ยน ไทยเปลี่ยน เมื่อไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค "5จี" เทคโนโลยีเครือข่ายที่ก้าวล้ำนี้จะพาประเทศขับเคลื่อนไปยุคดิจิทัลอย่างไรบ้าง
ระบบ 5G เป็นเทคโนโลยีเครือข่ายเพื่อการติดต่อสื่อสาร ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ที่จะก่อให้เกิดผลพวงที่มีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ยุคดิจิทัล อันเป็นนโยบายสำคัญและเป็นความปรารถนาสูงสุดของรัฐบาลในแต่ละประเทศ
ทุกประเทศในวันนี้ ต่างตระหนักดีว่า ความได้เปรียบและความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีจะเป็นกลไกสำคัญของความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมตลอดถึงการขับเคลื่อนสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ที่ผ่านการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมยิ่งขึ้น
ระบบ 5G ที่เคยดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่วันนี้ได้เข้าใกล้ตัวพวกเรามากขึ้นทุกที เพราะภาครัฐได้กำหนดวันเคาะประมูลใบอนุญาต 5G จะมีขึ้นในวันที่ 16 ก.พ. 2563 นี้แล้ว
ว่าไปแล้ว โลกเราได้ผ่านวิวัฒนาการของเทคโนโลยีเครือข่าย เพื่อการติดต่อสื่อสารแบบไร้สายมาถึง 4 ยุค (4G) แล้ว คือ ตั้งแต่ยุค 1G (ช่วง ค.ศ.1980) 2G (ช่วง ค.ศ.1990) 3G (ช่วง ค.ศ.2000) 4G (ช่วง ค.ศ.2010) และถ้ากำลังก้าวเข้าสู่ยุค 5G ในช่วง ค.ศ.2020 นี้
ว่าด้วยการสื่อสารเชื่อมโยงกันทั้งบุคคลและสิ่งอื่นๆ ในหลายๆ ภาคส่วน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ อุตสาหกรรม สังคม เรียกได้ว่าสามารถเชื่อมโยง และสื่อสารทุกสรรพสิ่งได้
5G จึงเป็นยุคของการเชื่อมต่อสิ่งของทุกสรรพสิ่งเข้าด้วยกัน โดยมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากยุค 4G เพราะเราสามารถจะตอบสนองต่อคำสั่งได้ไวขึ้น สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หรือแทบจะทันที รวมถึงการส่งสัญญาณที่ไวขึ้นสูงสุดและส่งข้อมูลได้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มมากแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญที่สุด คือ การประหยัดพลังงานด้วย
คุณสมบัติของ 5G จะทำให้เกิดผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ มากมาย อาทิ การสื่อสารกันได้ระหว่างคนกับเครื่องจักร เมื่อคนสามารถสั่งงานเครื่องจักรได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วแทบจะเรียลไทม์ การใช้งานเครื่องจักร จึงอาจจะเพิ่มมากขึ้น
ในภาคของการผลิตนั้น 5G จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการมากขึ้น จะทำให้สินค้าที่ส่งออกมีราคาถูกลง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย
ในส่วนของสาธารณสุขนั้น จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งจะทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้
สำหรับภาคเกษตรกรรม ก็จะลดการใช้แรงงานและเพิ่มผลิตภาพได้ เพราะได้นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ ส่วนภาคการศึกษาประชาชนในพื้นที่ชนบทก็จะเข้าถึงระบบการศึกษาได้เหมือนกับคนในเมือง จะมีการเรียนการสอนผ่านระบบ On-Line ประชาชนทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกันล
ขณะที่ภาคประชาชน ก็จะได้รับประโยชน์ 5G ช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมได้เป็นอย่างดี รวมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ทั้งด้านสาธารณสุข การเกษตร ธุรกิจ อุตสาหกรรม การศึกษา และสังคม
ภาคสังคม และครอบครัว ก็จะมีความเข้มแข็งและอบอุ่นมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยี 5G จะช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ในท้องถิ่นได้หลากหลายอาชีพมากขึ้น ในที่สุดก็จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยลงได้ในทุกๆ ด้าน และจะทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่เอื้ออาทรต่อกัน
ระบบ 5G จึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งการใช้ชีวิต และคุณภาพชีวิตของทุกผู้คนในโลกนี้ด้วย จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกทีต่อ "ประเทศไทย 4.0" ไม่ได้แล้ว ครับผม!