ธนาคารโลกเตือนความเสี่ยง วิกฤติหนี้โลกครั้งใหม่
“เวิลด์แบงก์” เตือนความเสี่ยงวิกฤติหนี้โลกครั้งใหม่หลังการกู้ยืมพุ่งสูงสุดในรอบ 50 ปี โดยจีน เป็นประเทศที่ก่อหนี้มากที่สุด เหตุเป็นชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่
ธนาคารโลกเปิดเผยในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (จีอีพี) ที่จัดทำขึ้นสองปีครั้งว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติหนี้ทั่วโลกครั้งใหม่ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารกลางต่างๆ ตระหนักว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์นั้น อาจไม่เพียงพอที่จะรับมือกับภาวะล่มสลายทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในวงกว้างอีกครั้ง
ธนาคารโลก ระบุในรายงานว่า มีการก่อหนี้ทั่วโลกแบ่งเป็น 4 คลื่นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยคลื่นปัจจุบันซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2553 นั้น เป็นระลอกที่มีการกู้ยืมทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากที่สุด, เร็วที่สุด และเป็นวงกว้างมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2513
ธนาคารโลก ระบุด้วยว่า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำจะช่วยลดความเสี่ยงบางประการที่เกี่ยวกับภาระหนี้สินในระดับสูง แต่คลื่นการก่อหนี้ 3 ระลอกก่อนหน้านี้ได้สิ้นสุดลงโดยเกิดวิฤติการเงินขึ้นทั้งในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศตลาดเกิดใหม่
ธนาคารโลก ระบุว่า ในปี 2561 นั้น หนี้สินทั่วโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 230% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่หนี้สินทั้งหมดจากประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับเกือบ 170% ของจีดีพีโดยเพิ่มขึ้น 54% นับตั้งแต่ปี 2553
ทั้งนี้ จีนมีสัดส่วนในการก่อหนี้มากที่สุด เนื่องจากมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ธนาคารโลกก็ย้ำว่า การก่อหนี้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างนับตั้งแต่ปี 2553 ยิ่งในช่วงที่จีน กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากสงครามการค้า ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ การแบกรับหนี้ของบริษัทรัฐวิสาหกิจจำนวนมากของจีนอาจเป็นปัญหาที่ท้าทายยิ่งกว่าปัจจัยภายนอก และอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศได้
บริษัทรัฐวิสาหกิจจีน เริ่มผิดชำระหนี้ครั้งแรกในปี 2557 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขาดประสิทธิภาพในการแข่งขัน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 บริษัทจีนผิดชำระหุ้นกู้ถึง 8,600 ล้านดอลลาร์ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 3 เท่า และเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ระบุว่า ในปี 2562 จีนแบกหนี้มูลค่ามหาศาลคิดเป็นสัดส่วนหนี้ทั้งหมด 303% ต่อจีดีพี และคิดเป็นเงิน 30 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 15% ของหนี้สินทั่วโลก แยกเป็นหนี้ของรัฐบาล ที่มีสัดส่วนเพียง 50.5% ต่อจีดีพี แต่หนี้ในบริษัทรัฐวิสาหกิจถือเป็นปัญหาใหญ่ของจีน
จีน มีรัฐวิสาหกิจประมาณ 174,000 แห่งมากกว่าประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาทั้งหมดรวมกัน ซึ่งการสะสมหนี้ของรัฐวิสาหกิจ มีสาเหตุมาจากต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน รวมถึงนโยบายของทางการจีน ซึ่งใช้รัฐวิสาหกิจเป็นตัวนำสำหรับการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
การผิดชำระหนี้ของบริษัทรัฐวิสาหกิจจีนส่งผลต่อภาคธนาคารและสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการเงินท้องถิ่น ซึ่งปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก จนธนาคารกลางเตือนว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินท้องถิ่นจำนวน 586 แห่ง จาก 4,400 กว่าแห่งของจีนมีความเสี่ยงสูงที่จะล้มละลาย
ช่วงปลายปีที่ผ่านมา สำนักงานเพื่อการชำระบัญชีแห่งเซี่ยงไฮ้ เปิดเผยว่า บริษัทสองแห่งของจีนคือ ปักกิ่ง ยูนิเวอร์ซิตี้ ฟาวเดอร์ กรุ๊ป และตังซู อ็อปโทอิเล็กทรอนิก เทคโนโลยี ไม่สามารถชำระหนี้การไถ่ถอนหุ้นกู้ในวงเงินรวมกันกว่า 500 ล้านดอลลาร์ บ่งชี้ว่าจีนกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สินในระดับสูง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
ข้อมูลจากสำนักงานเพื่อการชำระบัญชีแห่งเซี่ยงไฮ้ระบุว่า ปักกิ่ง ยูนิเวอร์ซิตี้ ฟาวเดอร์ กรุ๊ป ไม่สามารถชำระหนี้การไถ่ถอนหุ้นกู้ประเภทอายุ 270 วัน วงเงิน 2 พันล้านหยวน (ประมาณ 285 ล้านดอลลาร์) ขณะที่ตังซู อ็อปโทอิเล็กทรอนิก เทคโนโลยี ไม่สามารถชำระหนี้การไถ่ถอนหุ้นกู้ ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น วงเงิน 1.7 พันล้านหยวน