'วัฒนา' ถอนคำร้องเอาผิด 'ปารีณา' ปมบ้านเอื้ออาทร
ศาลฎีกานักการเมือง ไต่สวนกรณี "ปารีณา" ถูกร้องขัดข้อกำหนดศาลวิจารณ์คดีบ้านเอื้ออาทร เจ้าตัวยันเฟซปลอม "วัฒนา" ยอมเชื่อถอนคำร้อง ไม่อย่ามีคดีกวนศาล
เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 623 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร นัดไต่สวนพยานนัดแรก ที่ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำเลยที่ 1 คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียก น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผู้ถูกร้อง มาสอบถามและวินิจฉัยกรณีที่ นายวัฒนา อ้างว่า น.ส.ปารีณา น่าจะกระทำการที่ขัดต่อคำสั่งศาลเกี่ยวกับข้อกำหนดที่วางไว้ในคดีบ้านเอื้ออาทร จากกรณีที่มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ น.ส.ปารีณา เมื่อเดือน ส.ค.62 ที่ผ่านมา พาดพิง นายวัฒนา และการเบิกความในคดีบ้านเอื้ออาทร
โดยวันนี้ นายวัฒนา เดินทางมาศาลพร้อมทีมทนายความ เช่นเดียวกับ น.ส.ปารีณา ผู้ถูกร้อง ภายหลังการไต่สวนแล้ว นายวัฒนา เปิดเผยว่า ในชั้นการไต่สวน น.ส.ปารีณา ได้ให้การต่อศาลยืนยันว่าเฟซบุ๊กที่มีการโพสต์ข้อความ เป็นเฟซบุ๊กปลอม และได้ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่มีเจตนาที่จะต้องการทำให้ตนได้รับความเสียหาย ดังนั้นเมื่อ น.ส.ปารีณา ยืนยันตนก็เชื่อว่า น.ส.ปารีณา มีเกียรติพอที่จะพูดความจริง จึงขอถอนคำร้องดังกล่าวโดยไม่ติดใจเอาความอีกต่อไป ซึ่งศาลได้จดรายงานและยุติเรื่องนี้แล้ว
นายวัฒนา กล่าวอีกว่า คดีนี้แม้เอาผิดต่อไปก็มีโทษแค่เพียงปรับเท่านั้น ส่วนตัวจึงไม่อยากให้เป็นคดีไปรกศาล เพราะเห็นว่าศาลมีภารกิจและมีคดีสำคัญที่จะต้องพิจารณาจึงไม่อยากให้เป็นปัญหาจึงไม่เอาความ
ด้าน น.ส.ปารีณา เปิดเผยว่า คดีนี้หากเอาผิดต่อไปก็จะเป็นการสร้างภาระให้กับศาล ซึ่งตนมีเอกสารหลักฐานยืนยันว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของปลอม ซึ่งที่ผ่านมามีเฟซบุ๊กปลอมในลักษณะดังกล่าวจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าสื่อมวลชนไปให้ความสำคัญ เนื่องจากเห็นว่ามีผู้ติดตามมากถึง 40,000 คน ทำให้ตนได้รับผลกระทบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรนั้น ก่อนหน้านี้ระหว่างการไต่สวนพยานโจทก์ ศาลได้ออกข้อกำหนด เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 62 ว่า หลังจากที่มีการรายงานเกี่ยวกับคดีจนอาจกระทบการพิจารณาได้ องค์คณะฯ จึงได้ออกข้อกำหนดระหว่างการพิจารณา ห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำการ 1.ให้ข่าว, รายงาน หรือย่อเรื่องกระบวนพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ถูกต้อง 2.ทำการวิภาค (ภาษาตามกฎหมาย) โดยไม่เป็นธรรมในการดำเนินคดีของคู่ความ หรือคำพยานหลักฐาน รวมทั้งการแถลงข้อความที่เป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียงของคู่ความ, พยาน 3. ชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ โดยการกระทำนั้นประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล, คู่ความ, พยานหลักฐาน ที่จะมีผลทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป โดยการออกข้อกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.แพ่ง) มาตรา 30, 32, 33