เด็กดีในวันนี้ คือผู้ใหญ่ดื้อในวันหน้า
เด็กที่เปลี่ยนไปมักถูกมองว่าเป็น "เด็กดื้อ" ในทางตรงกันข้ามผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง มักถูกมองว่าเป็น "ผู้ใหญ่ดื้อ" โดยเฉพาะด้านการทำงาน ทั้งนี้จะทำอย่างไรในการจัดการกับผู้ใหญ่ดื้อ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่อนาคต
ช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสอ่านพ็อกเก็ตบุ๊คจบไปเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ชื่อ "วัยรุ่น 4.0" เขียนโดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เนื่องจากลูกสาวกำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ดิฉันจึงอยากเข้าใจเพื่อจะได้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ลูกผ่านวัยที่น่าตื่นเต้นนี้ไปได้
คุณหมอถ่ายทอดเรื่องราวผ่านประสบการณ์จริงทั้งจากตนเอง ผู้ป่วย และคนรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่คุณหมอตอบคำถามพ่อแม่เกี่ยวกับวิธีการจัดการวัยรุ่นที่ร้ายกาจ ที่พ่อแม่เองก็หมดปัญญาแล้วเหมือนกัน อ่านดูหลายๆ ตัวอย่าง ดิฉันพบว่าสิ่งที่พ่อแม่เผชิญคือ "ลูกเปลี่ยนแปลงไป" จากเดิมมาก จากเด็กน่ารัก ขี้อ้อน เชื่อฟัง กลายเป็นไม่ฟังและมองพ่อแม่เหมือนศัตรู เด็กที่ "เปลี่ยนไป" มักถูกมองว่าเป็น "เด็กดื้อ"
ในทางตรงกันข้าม ในฐานะที่ดิฉันเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำและองค์กรให้องค์กรต่างๆ ในเมืองไทย มักได้ยินได้ฟังเคส "ผู้ใหญ่ดื้อ" อยู่บ่อยๆ แต่ต่างกันตรงที่ ผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง มักถูกมองว่าเป็น "ผู้ใหญ่ดื้อ" เช่น 10 ปีที่แล้วเคยทำงานอย่างไร ทุกวันนี้ยังทำเหมือนเดิม ไม่ทันยุคทันสมัย วันๆ นั่งคิดถึงอดีตอันแสนหวาน และหดหู่กังวลกับอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนไป
องค์กรส่วนใหญ่ในวันนี้ให้ความสำคัญทัศนคติ ทักษะและความสามารถในการเปลี่ยนแปลง (Change and Transformation) ของบุคลากรในองค์กร เพื่อช่วยปรับเปลี่ยน ปฏิรูปองค์กรให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง สังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ดี แม้การเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเปลี่ยนแปลงในองค์กรนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย John Kotter กูรูด้านการเปลี่ยนแปลงบอกว่ามีองค์กรเพียง 30% เท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงสำเร็จ และจากการศึกษาของ McKinsey เมื่อ 4 ปีก่อน พบว่ามีเพียง 1 ใน 4 ของผู้บริหารที่มองว่าองค์กรของตนเองเปลี่ยนแปลงสำเร็จ
- 4 ทักษะจัดการกับ "ผู้ใหญ่ดื้อ" เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่อนาคต
1. นำพาธุรกิจและบุคลากรด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiring Others) ในอดีตผู้นำมีหน้าที่กระตุ้นจูงใจพนักงาน (Motivate) ผ่านการให้คุณให้โทษ ในวันนี้องค์กรที่เปลี่ยนแปลงเร็วและทันคงไม่สามารถรอให้ผู้นำคอยไปกระตุ้นจูงใจพนักงานได้ตลอดเวลา เพราะเมื่อกระตุ้นก็จะทำ ไม่กระตุ้นก็แผ่ว ในทางตรงข้ามตัวพนักงานต่างหากที่สามารถกระตุ้นตนเองได้ตลอดเวลาผ่านแรงบันดาลใจจากผู้นำ เพราะแรงบันดาลใจมากกว่าการให้คุณให้โทษ แต่คือการเรียกเอาพลัง ความปรารถนาและคุณค่าในตัวพนักงานออกมานำการเปลี่ยนแปลง
2. นำเทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์อันแสนพิเศษให้กับลูกค้าและเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร (Digitizing Business) หลายๆ องค์กรต้องการ Go Digital และพยายามจะดิจิทัลในทุกๆ เรื่อง จนในที่สุดพังพร้อมกันหมด พอพังคนก็ไม่อยากเปลี่ยน ผู้นำควรแสดงให้เห็นว่าจุดไหนควร Go Digital โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 จุดสำคัญคือ จุดที่ Make More Money และ Save More Money เพราะเมื่อทำ 2 จุดนี้ได้สำเร็จ คนทั้งองค์กรจะเห็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบอันยิ่งใหญ่ มองการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องบวกและอยากจะเปลี่ยนแปลงตาม
3. เปิดโลกทัศน์ให้คนในองค์กร (Opening to the outside world) องค์กรที่เคยอยู่ในหนังสือ Good to Great หลายองค์กรที่ตอนนี้ได้ล่มสลายไปแล้ว ความสำเร็จในอดีตไม่ได้การันตรีความสำเร็จในปัจจุบันและอนาคตอย่างแน่นอน อยากให้พนักงานเปลี่ยนแปลง ก็ต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เขา เช่น ลองส่งพวกเขาไปอยู่ ไปพูดคุย ไปดู คนนอกอุตสาหกรรม
4. มีความตื่นตัวเห็นความจำเป็นในการนำการเปลี่ยนแปลง (Leading Transformation) การเห็นความจำเป็นในการนำการเปลี่ยนแปลง แปลว่าไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต รู้ว่าหากอยากประสบความสำเร็จเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ ในวันนี้จะต้องปฏิบัติต่างจากเมื่อวานอย่างไร
เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า และเด็กดีในวันนี้อาจจะเป็นผู้ใหญ่ดื้อในวันหน้าก็ได้
สุขสันต์วันเด็กค่ะ