ไทยรอด! บัญชีดำประเทศปั่นค่าเงิน
ไทยรอดถูกสหรัฐขึ้นบัญชีเป็นประเทศแทรกแซงค่าเงินตัวเอง โดยเข้าข่ายเพียง 1 จาก 3 เกณฑ์ คือเกินดุลบัญชีเดินสะพัด
กระทรวงการคลังสหรัฐออกรายงานว่าด้วยนโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาคและปริวรรตเงินตราของประเทศคู่ค้ารายสำคัญของสหรัฐ เมื่อวันจันทร์ (13 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ระบุว่า จากการประเมิน 20 ประเทศคู่ค้ารายสำคัญของสหรัฐ รวมถึงไทย พบว่า ไม่มีประเทศคู่ค้ารายใดเข้าข่ายแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราของตัวเอง
ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินเมื่อเดือน ต.ค. 2562 ว่า ไทยยังมีความเสี่ยงเรื่องการถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน เพื่อหวังผลทางการค้า (currency manipulator) และอาจทำให้ไทยถูกกีดกันทางการค้าในรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มเติมได้
SCB EIC วิเคราะห์ในขณะนั้นว่า ไทยอาจเข้าเกณฑ์เป็นผู้แทรกแซงค่าเงิน 2 จาก 3 เกณฑ์ตามที่สหรัฐกำหนดแล้ว คือ 1. ไทยมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 6.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ 2% ของจีดีพีของไทย 2. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทต่อเนื่องเกินกว่า 6 เดือนในรอบ 1 ปีย้อนหลังและเข้าซื้อเงินดอลลาร์เกินกว่า 2% ของจีดีพีของไทย และข้อ 3 ที่ไทยยังไม่เข้าข่าย คือ การได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐที่ยังไม่เกินดุลมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดของกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า ไทยเข้าข่ายเพียง 1 จาก 3 เกณฑ์ คือเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 5.3% ของจีดีพีในปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ 2% ขณะที่ธปท.แม้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทต่อเนื่องเกินกว่า 6 เดือนในรอบ 1 ปี แต่เข้าซื้อเงินดอลลาร์ไม่เกิน 2% ของจีดีพีโดยอยู่ที่ 1.5% และได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐไม่เกินเกณฑ์ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยอยู่ที่ราว 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา
ปีที่แล้ว นางสาวนันธร มหาพรประจักษ์ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยอธิบายถึง การบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า (currency manipulation) ในมุมมองของสหรัฐว่า คือการที่ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ เข้ามาทำธุรกรรมให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงมากกว่าปัจจัยพื้นฐานของประเทศอย่างมาก ซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ และสหรัฐมองว่าเป็นสาเหตุทำให้ประเทศขาดดุลการค้าในระดับสูงมานาน สหรัฐจึงตรวจสอบรายชื่อประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า มาเป็นหนึ่งในมาตรการการค้าเพื่อลดการขาดทุนการค้าของตัวเอง
แม้ที่ผ่านมายังไม่มีประเทศไหนเข้าข่ายครบทั้ง 3 เกณฑ์ แต่ก็มีบางประเทศที่เข้าข่ายเกณฑ์บางข้อ สหรัฐก็จัดให้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ต้องเฝ้าติดตาม (monitoring list)
แต่ขณะเดียวกัน นักวิชาการต่างถกเถียงถึงนิยามของการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้าของสหรัฐ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการแทรกแซงค่าเงินและความเชื่อมโยงที่มีต่อดุลการค้าอย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่น่าจะต้องติดตาม
นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐได้ถอนชื่อจีนออกจากบัญชีประเทศที่รัฐบาลแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราของตัวเองมานาน โดยวอชิงตันกล่าวหาปักกิ่งว่า “ดำเนินการเชิงรุก” เพื่อให้สกุลเงินหยวนอ่อนค่ากว่าความเป็นจริง
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังสหรัฐเคยประกาศว่าจีนเป็นประเทศที่ “ปั่นค่าเงิน” มาแล้วเมื่อปี 2537 ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ก่อนถอนชื่อออกหลังจากนั้นไม่นาน เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้า
นอกจากนั้น สหรัฐได้ประกาศรายชื่อ 10 ประเทศซึ่งรัฐบาลวอชิงตันต้องจับตาความเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิด ได้แก่ จีน เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และเวียดนาม แต่การถอนชื่อจีนออกจากบัญชีดำดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นไปตามเหตุผลเรื่องข้อตกลงการค้าเช่นเดิม
สหรัฐและจีนซึ่งเป็นประเทศมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก จะลงนามข้อตกลงการค้าระยะแรกที่ทำเนียบขาว ในวันพุธนี้ (15 ม.ค.) ซึ่งนายทรัมป์จะลงนามด้วยตัวเอง ส่วนจีนส่งผู้แทนคือนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง