'พลังงาน' เตรียมสรุปแผนรับซื้อไฟฟ้าเพื่อนบ้านเพิ่ม
“พลังงาน” เตรียมจัดลำดับโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวอีก 3,000 เมกะวัตต์ ทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2569 คาดชัดเจนไตรมาส 1 ปีนี้ ด้าน “ราช กรุ๊ป” ลุ้นผลเสนอโรงไฟฟ้า “เซกอง” ให้ กฟผ.พิจารณา
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างพิจารณาคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว หลังเสนอขายไฟฟ้าให้กับไทยเพิ่มเติมอีกเกือบ 10 โครงการ จากกรอบความร่วมมือ(MOU)ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับลาว อยู่ที่ 9,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้วประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ เหลือ รับซื้อได้อีก 3,000 เมกะวัตต์
“ขณะนี้ ลาวเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาเกินกว่าปริมาณที่ไทยจะรับซื้อได้และเกินกว่าMOUที่ตกลงกันไว้ ซึ่งตามแผน PDP 2018 จะรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศโครงการใหม่เข้าระบบได้ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป หรือทยอยเข้าระบบปีละ 700 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และถ่านหิน ซึ่งมีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ”
ดังนั้น คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน อยู่ระหว่างคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสม คาดว่าจะได้ข้อสรุป ภายในไตรมาส 1 ปีนี้
โดยหากสามารถคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวได้แล้ว ตามขั้นตอนจะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติ ก่อนลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และลาว ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580 (PDP 2018) ไทยสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้อีก 3,500 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้ เป็นโควตาของลาว 3,000 เมกะวัตต์ จะเหลือสัดส่วนที่รับซื้อจากประเทศอื่นๆ ได้อีก 500 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งเบื้องต้น พบว่า ประเทศที่มีศักยภาพเช่น เมียนมา และกัมพูชา เป็นต้น โดยเหตุผลสำคัญที่จะพิจารณาในการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น อันดับแรก อัตราค่าไฟฟ้าต้องถูก และต้องมีจุดเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ และไม่เป็นภาระค่าประชาชนในอนาคต
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ สนพ.อยู่ระหว่างทบทวนแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 คาดว่า จะแล้วเสร็จและนำเสนอที่ประชุม กพช.ได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ หรือ อย่างช้าในไตรมาส 1นี้ ซึ่งจะทำให้การจัดลำดับโครงการรับซื้อไฟฟ้าทั้งไทยและต่างประเทศที่จะเข้าสู่ระบบในอนาคตมีความชัดเจนมากขึ้น เบื้องต้น สัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าในภาพใหญ่ยังเหมือนเดิม แต่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่(IPP)บางโครงการ อาจเลื่อนระยะเวลาเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)เร็วขึ้น
ขณะที่โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) อาจมีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงพลังงานและเลื่อนระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าเร็วขึ้น เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โรงไฟฟ้าขยะ และพลังงานลม เป็นต้น
นายบุญชัย จรัญวรพรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาโครงการ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า บริษัท ได้เจรจาจำหน่ายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4A และ 4B ในประเทศลาว ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 340 เมกะวัตต์ ให้ กฟผ.พิจารณาแล้ว ภายใต้กรอบความร่วมมือพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าไทย-ลาว 9,000 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการฯนี้ บริษัทได้ลงนามสัญญากับรัฐบาลลาวให้เป็นผู้พัฒนาแล้ว
โดยโครงการฯนี้ จะเริ่มการก่อสร้างได้ ก็ต่อเมื่อมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)แล้ว ส่วนจะเข้าระบบได้เมื่อไหร่นั้น จะต้องพิจารณาเรื่องของความต้องการใช้ไฟฟ้าในไทยด้วย ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐ และแผนPDP ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงใหม่ด้วย
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4A และ4B ประกอบด้วยเขื่อนเก็บน้ำ 2 แห่ง คือเขื่อนเซกอง 4A ตั้งอยู่เมืองละมาม และเขื่อนเซกอง 4B ตั้งอยู่เมืองกะลึม แขวงเซกองซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างRATCH มีสัดส่วน 60% ,บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ถือหุ้นสัดส่วน 20% และ Lao World Engineering & Construction Co., Ltd. ถือหุ้นสัดส่วน 20% มูลค่าโครงการประมาณ 835 ล้านดอลลาร์