เงินบาทแข็ง เป็นปลายเหตุ ไม่ใช่ต้นเหตุ
จริงๆ แล้ว การแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าของไทย มาถูกทางแล้วหรือไม่ ทำไมเงินบาทถึงแข็งค่าไม่หยุด หรือเป็นเพราะที่ผ่านมาเป็นแค่การมองปลายเหตุเท่านั้น แล้วไทยจะลดทอนการแข็งค่าของเงินบาทได้อย่างไรบ้าง
การแข็งค่าของเงินบาทปีที่แล้วเกือบ 9% ทำให้เงินบาทกลายเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดสกุลหนึ่งของโลกแบบไม่น่าเชื่อ มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ
คนชอบ คือ คนที่ใช้เงินตราต่างประเทศซื้อสินค้านำเข้า ลงทุน หรือเที่ยวต่างประเทศ เพราะทุกอย่างนอกประเทศดูถูกไปหมด จนปีที่แล้วคนไทยไปเที่ยวเมืองนอกเพิ่มขึ้นกว่า 15% คนที่ไม่ชอบ คือ ธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ เพราะเงินบาทแข็งทำให้สินค้าส่งออกจากไทยแพงขึ้นเทียบกับสินค้าต่างประเทศ ทำให้แข่งขันไม่ได้ การส่งออกปีที่แล้วจึงติดลบไม่เติบโต
สำหรับรัฐบาลไม่แน่ใจว่าชอบหรือไม่ชอบ เพราะในสายตาต่างประเทศ ประเทศที่ค่าเงินแข็งจะดูเด่น แต่ในประเทศเองกลับมีเสียงบ่นตลอด เพราะประเทศเราพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวมาก ถ้า 2 ตัวนี้ชะลอจากค่าเงินบาท เศรษฐกิจก็จะชะลอ กระทบรายได้ของภาคธุรกิจและประชาชน ทำให้มี 2 คำถามที่ประชาชนอยากรู้คำตอบ 1.ทำไมเงินบาทแข็งค่าไม่หยุด 2.รัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทยทำอะไรได้หรือไม่ ที่จะให้เงินบาทอ่อนค่าลง เป็น 2 คำถามยอดฮิตขณะนี้
ปรกติค่าเงินของประเทศจะแข็งเมื่อเศรษฐกิจของประเทศมีปัจจัยพื้นฐานที่เข้มแข็ง เช่น มีอัตราการขยายตัวที่ดี เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ การทำนโยบายสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศมีรายได้และเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาก ค่าเงินจึงแข็ง
แต่ประเทศไทยขณะนี้ไม่ใช่แบบนี้ ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไม่เข้มแข็ง อัตราการขยายตัวต่ำและบางปีก็ต่ำสุดในอาเซียน การใช้จ่ายและกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ ภาคธุรกิจไม่ลงทุน หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง การส่งออกและการท่องเที่ยวชะลอจากผลของเศรษฐกิจโลกและค่าเงิน การว่างงานเพิ่มสูงขึ้น เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศชะลอ นักลงทุนห่วงในเรื่องเสถียรภาพการเมืองและความต่อเนื่องของนโยบาย ขณะที่ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นก็รุนแรงและความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมีก็ติดอันดับต้นๆ ของโลก เหล่านี้ไม่ใช่ความเข้มแข็งที่จะทำให้ค่าเงินแข็งค่าต่อเนื่อง
แต่ที่เงินบาทแข็งค่าและแข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ก็เพราะเศรษฐกิจไทยได้อยู่ในกับดักการขยายตัวต่ำเป็นเวลานาน จากที่ภาคเอกชนและภาครัฐไม่ลงทุนอย่างที่ควรต้องทำ ไม่มีนวัตกรรม เมื่อไม่ลงทุนประเทศก็ไม่มีฐานการผลิตใหม่ที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่จึงไม่มีการเติบโตของรายได้และเศรษฐกิจไม่มีกำลังซื้อ
เมื่อเศรษฐกิจไม่มีการเติบโตของการใช้จ่าย ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งก็คือความแตกต่างระหว่างรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวกับรายจ่ายจากการนำเข้าสินค้าและบริการก็เกินดุล คือ รายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศมีมากกว่ารายจ่ายกดดันให้เงินบาทซึ่งเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ช่วงปี 2558-2562 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย เกินดุลรวมแล้วกว่า 179 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.4 ล้านล้านบาท
ในทางเศรษฐศาสตร์ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด หมายถึง คนในประเทศออมมากกว่าลงทุน ซึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากอย่างบ้านเรา คนที่ออมคือบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่และคนที่ร่ำรวย นี่คือปัญหาที่เศรษฐกิจไทยมี คือ คนที่มีรายได้ มีเงินเหลือเก็บออม ไม่ลงทุน หรือไปลงทุนในต่างประเทศแทน แต่ถ้าเงินออมเหล่านี้ถูกนำมาลงทุนในประเทศ คือ เงิน 5.4 ล้านล้านบาทกลายเป็นเงินลงทุน เศรษฐกิจประเทศไทยก็จะเติบโตมาก เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคต แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นและไม่ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานกว่า 5 ปี เศรษฐกิจไทยจึงเติบโตในอัตราที่ต่ำมาตลอด ขณะที่เงินบาทก็แข็งค่าตามกลไกตลาดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทุกปี แม้ปัจจัยพื้นฐานของประเทศจะไม่ดี นี่คือ ต้นเหตุของการแข็งค่า
อีกประเด็นที่เป็นปัจจัยเสริม คือ การไหลเข้าของทุนเงินต่างประเทศ ซึ่งหลังมาตรการคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐ เงินไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่มากเพื่อหาผลตอบแทน ซึ่งรวมถึงประเทศไทย กดดันให้เงินบาทแข็งค่า และเมื่อเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด นักลงทุนก็อ่านออกจึงนิยมลงทุนในสินทรัพย์เงินบาทระยะสั้นเพื่อหาประโยชน์จากทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เงินบาทยิ่งแข็งค่า
- แล้วเราจะลดทอนการแข็งค่าของเงินบาทได้อย่างไร หรือไม่
คำตอบ คือ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือทำนโยบายที่จะสร้างความมั่นใจ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง ให้นักลงทุนให้คนในประเทศและบริษัทธุรกิจกลับมาลงทุน หรือมีแรงจูงใจที่จะลงทุน ที่จะสร้างนวัตกรรม สร้างเทคโนโลยี เพื่อนำประเทศไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อภาคธุรกิจและประชาชนมีความหวังและเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศ ซึ่งต้องมาจากรัฐบาลที่เอาจริงกับการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม พร้อมปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูประบบราชการ ลดความบิดเบือนให้เศรษฐกิจมีการแข่งขัน สร้างระบบการค้าขายที่เป็นธรรม ลดระบบอุปถัมภ์และการทุจริตคอร์รัปชั่น นำโดยผู้นำประเทศที่มีวิสัยทัศน์ที่ประชาชนเชื่อและสนับสนุนที่จะนำประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ในลักษณะนี้ ถ้าเศรษฐกิจเป็นสิ่งมีชีวิต การแข็งค่าของเงินบาทจึงเหมือนเสียงร้องของเศรษฐกิจให้มีการปฏิรูปปรับโครงสร้างเพื่อให้เศรษฐกิจหลุดพ้นออกจากวังวนและความเจ็บปวดของการเติบโตที่ต่ำ
แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น สิ่งที่หน่วยงานทางการอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำได้ ก็เพียงชะลอการแข็งค่าของเงินบาทเพื่อลดผลกระทบด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย การแทรกแซง ผ่อนคลายกฎระเบียบให้คนไทยสามารถซื้อทรัพย์สินหรือลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น และป้องกันการเก็งกำไร ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ประมาณว่า ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา(2558-2562) ทุนสำรองระหว่างประเทศได้เพิ่มขึ้นกว่า 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็คือปริมาณที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซงซื้อเงินดอลลาร์เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท เทียบได้เท่ากับหนึ่งในสามของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกิดขึ้น
แต่นี่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพื่อซื้อเวลาให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจกลับมาลงทุนให้ประเทศหลุดออกจากกับดักของการเติบโตต่ำที่เป็นต้นเหตุให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง
แต่ถ้ารัฐบาลยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ต้องทำ ยังไม่ยอมแก้ปัญหาสำคัญๆ ที่ประเทศมีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุน ประเทศก็สูญเสียโอกาสที่จะใช้การแข็งค่าของเงินบาทเป็นโอกาสที่จะลงทุนเพื่อสร้างอนาคตให้กับประเทศ ตรงกันข้ามเมื่อไม่มีการลงทุนแต่นโยบายมุ่งแต่จะส่งเสริมให้ประชาชนฟุ่มเฟือยด้วยการแจกเงินและสร้างหนี้ เศรษฐกิจของประเทศก็เหมือนอยู่ไปวันๆ เพราะอนาคตของประเทศเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น