ร้อง ศธ. ลงโทษ 'ผู้บริหารสถานศึกษา' บีบบังคับเด็กท้องออกจากร.ร.
ภาคประชาสังคมร้อง ศธ.ลงโทษผู้บริหารสถานศึกษา หากบีบบังคับให้เด็กท้องออก เผยจากการเปิดสายด่วน 1663 ปี 2562 พบมีผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมมาปรึกษาเฉลี่ยปีละประมาณ 30,000 ราย และ 30% เป็นวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ตั้งทีมประสานช่วยเหลือเด็ก
วันนี้ (15 ม.ค.2563) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากเครือข่ายผู้ปกครองยื่นหนังสือถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เรื่องห้ามสถานศึกษาบีบบังคับนักเรียน/นิสิตนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ออกจากสถานศึกษา และให้มีมาตรการลงโทษหากฝ่าฝืน โดยมีนายธีร์ ภวังคนันท์ รักษาการ ผอ.สำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มารับหนังสือ
นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่าตั้งแต่มี พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มีนักเรียน/นักศึกษาปรึกษาเรื่องที่ถูกสถานศึกษาบังคับให้ออกจากสถานศึกษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ราย มูลนิธิฯ จึงตัดสินใจเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนโดยผ่านสายด่วน 1663 และภาคีภาคประชาสังคมในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562
พบว่าจากการเปิดสายด่วน 1663 มีผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมมาปรึกษาเฉลี่ยปีละประมาณ 30,000 ราย และ 30% เป็นวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ดังนั้น ศธ.เป็น 1 ใน 6 กระทรวงหลัก ที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้กำหนดหน้าที่และบทบาทสำคัญไว้
โดยกฎกระทรวงของ ศธ.กำหนดไว้อย่างชัดเจนในข้อ 7 เกี่ยวกับนักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษาว่า ต้องไม่ให้นักเรียนนักศึกษาออกจากสถานศึกษาดังกล่าว แต่จากการเปิดบริการของสายด่วน 1663 ที่ให้คำปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อมมาอย่างต่อเนื่อง มีนักเรียน/นักศึกษาปรึกษาเรื่องถูกบังคับให้ออกจากสถานศึกษาด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ราย โดยมีเหตุผลหลักอยู่ 2 ข้อ คือ 1.นักเรียน/นักศึกษาผิดกฎสถานศึกษา และ2.ประพฤติตัวทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของโรงเรียน
“การที่ผู้บริหารสถานศึกษาบังคับให้เด็กออกจากสถานศึกษาหรือให้ย้ายสถานศึกษาโดยผู้เรียนไม่ได้สมัครใจ ส่งผลให้เกิดความทุกข์ต่อนักเรียนและครอบครัวอย่างมาก เป็นการสร้างวิกฤติ ซ้ำเติมให้กับนักเรียนมากกว่าการช่วยเหลือและแก้ไขให้เด็กที่พลาดมีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง และถือเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน” รองผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าว
นายสมวงศ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องในโอกาสวันครูที่จะถึงนี้ ขอให้ทาง ศธ.แจ้งไปยังสถานศึกษาทุกแห่งให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 อย่างจริงจัง และหากมีสถานศึกษาใดไม่ปฏิบัติหรือหลีกเลี่ยง ใช้วิธีการทั้งทางตรงและทางอ้อมในการบีบบังคับให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาต้องออกจากสถานศึกษาหรือย้ายสถานศึกษาอันเนื่องจากการตั้งครรภ์ โดยไม่ได้เป็นไปตามความสมัครใจของนักเรียนและครอบครัว ให้มีมาตรการในการลงโทษผู้บริหารสถานศึกษาอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณว่า ศธ.ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตาม พ.ร.บ.และกฎกระทรวงอย่างจริงจัง
ด้านนายธีร์ กล่าวว่าศธ.มีศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(ฉก.ชน.สพฐ.) เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่แล้ว และได้มีการทำงานร่วมกับทางมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องการประสานงานร่วมกัน เพราะทางสพฐ.มีข้อมูลส่วนหนึ่ง และทางมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วนฯมีข้อมูลส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนร่วมกัน ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาสพฐ.จะรับรู้ในส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหากทางมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วนฯมีข้อมูลขอให้แจ้งมายังสพฐ. เพื่อจะได้ช่วยเหลือเด็ก ดูแล ให้เป็นไปตามมาตรการที่สพฐ.วางไว้
“เราไม่เคยนิ่งนอนใจในเรื่องเหล่านี้ หากพบว่าผู้บริหารโรงเรียนไม่ปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางการดูแลช่วยเหลือที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ก็จะมีการสั่งการและตรวจสอบอย่างแน่นอน ฉะนั้น หลังจากนี้ สพฐ.จะตั้งทีมประสานงานร่วมกับทางมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม รวมถึงจะประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และส่งต่อเมื่อพบว่าทางสถานศึกษาไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานและดูแลช่วยเหลือเด็ก” นายธีร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการและแนวทางการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน โดยศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำขึ้นเพื่อให้สถานศึกษาและสำนักเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง ได้มีข้อมูลความรู้ความเข้าใจและการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
จึงได้กำหนดมาตรการและแนวทางเป็น 4 ด้านดังต่อไปนี้1. การจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กนักเรียน 2.การเฝ้าระวัง การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน3.การดูแลให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน และ4.การสร้างความตระหนักและการพัฒนาการมีส่วนร่วมของสังคม
สำหรับการดูแลให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน ได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือเป็นสองระดับ คือ ระดับสถานศึกษา และ ระดับสำนักเขตพื้นที่การศึกษา ดังต่อไปนี้
ระดับสถานศึกษา การช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน โดยมีตัวชี้วัดคือ ร้อยละของนักเรียนที่ประสบปัญหาได้รับความช่วยเหลือ มีแนวทางการดำเนินงานดังต่อไปนี้ 1.จัดบริการปรึกษาแนะนำและทำหน้าที่ผ่อนคลายระบายทุกข์ให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองที่กำลังประสบปัญหา 2.เปิดช่องทางการสื่อสารขอความช่วยเหลืออย่างหลากหลายเพื่อให้นักเรียนได้ส่งสัญญานขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือประสบปัญหาที่อาจนำไปสู่การตั้งครรภ์ในวัยเรียน
3.ประสานความร่วมมือกับแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือนักเรียนตามระดับความรุนแรงของปัญหา 4.สถานศึกษาต้องรีบนำนักเรียนออกจากสถานการณ์ปัญหาให้เร็วที่สุดและดำเนินการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว 5.ประสานส่งต่อนักเรียนที่ประสบปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับการดูแล ช่วยเหลือบำบัด ฟื้นฟูอย่างถูกวิธีและทันเวลา
การให้ความคุ้มครองนักเรียนที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน โดยมีตัวชี้วัดคือ ร้อยละของนักเรียนที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและโอกาส มีแนวทางในการดำเนินงานต่อไปนี้ ดำเนินการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาโดยหลีกเลี่ยงการลงโทษหรือให้นักเรียนออกจากระบบการศึกษาสร้างและพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการศึกษาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของนักเรียนที่กำลังประสบปัญหาคุ้มครองสิทธิและโอกาสทางการศึกษา
โดยใช้กระบวนการประชุมสหวิชาชีพ เพื่อพิจารณาและคุ้มครองสิทธิตามสมควรแก่กรณี จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างต้นทุนชีวิตให้แก่นักเรียน ทั้งกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน
ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
สำนักงานพื้นที่การศึกษา ให้จัดมาตรการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียน โดยมีตัวชี้วัดคือ ร้อยละของสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน และมีแนวทางดังต่อไปนี้ สนับสนุนให้สถานศึกษา มีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน ส่งเสริมให้สถานศึกษา ดำเนินการจัดการศึกษาทางเลือก (Alternative Education Program) เป็นที่บริการปรึกษาแนะนำและช่วยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา เร่งติดตามและรายงานข้อมูลผลการให้การดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนที่ประสบปัญหาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง