ล้านล้านแล้วไง !? เปิดกระเป๋า 'กลุ่มซีพี' ลุ้นประมูล 3 โปรเจคยักษ์ มูลค่าเฉียด 'ล้านล้าน'
เปิดศักราชใหม่มาได้ไม่นานแต่ความเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจดูจะคึกคักเป็นพิเศษ หลายบริษัทกลับมาเดินหน้าเร่งเครื่องธุรกิจอย่างเต็มสูบ หลังใส่เกียร์ว่างมานาน
ขณะที่ภาครัฐเองงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ผ่านการพิจารณาเรียบร้อย คาดเริ่มเบิกจ่ายได้อย่างเป็นทางการในเดือน ก.พ. นี้ ถือเป็นเส้นเลือดหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐจะถูกผลักดันออกมาอีกมากมาย
พูดถึงการเปิดประมูลงานใหม่ ขณะนี้มีอยู่หลายโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอภิมหาโปรเจคมูลค่าหลักแสนล้านบาท ไล่มาตั้งแต่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่าการลงทุน 2.9 แสนล้านบาท ซึ่งวันนี้ (17 ม.ค.) คณะกรรมการคัดเลือกจะมีการเปิดซองข้อเสนอราคาของกลุ่มซีพีที่ได้คัมแบ็กกลับลงสนามแข่งขันอีกครั้ง แม้จะยื่นเอกสารเกินเวลาไป 9 นาที
โดยกลุ่มซีพีเข้าร่วมประมูลภายใต้กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท โอเรียนท์ ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประเดิมคว้างานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ ไฮสปีดเทรน มูลค่า 224,544 ล้านบาท ไปแล้ว หลังเสนอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐต่ำที่สุด 117,227 ล้านบาท
ตรงกันข้ามกับโครงการสนามบินอู่ตะเภาที่ผู้ชนะต้องเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงที่สุด จากราคาขั้นต่ำ 5.9 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาได้เปิดซองราคาของอีก 2 กลุ่มไปแล้ว โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอผลตอบแทนให้รัฐ 3.05 แสนล้านบาท สูงกว่าที่รัฐคาดหวังไว้ถึง 2.46 แสนล้านบาท
ขณะที่กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม ที่มีบริษัท บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน), บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด เสนอผลตอบแทนให้รัฐ 1 แสนล้านบาท
การกลับลงสนามของกลุ่มซีพีมาพร้อมกับความมั่นใจว่าจะเป็นผู้ยื่นผลประโยชน์ให้รัฐสูงที่สุด เพราะซีพีเองก็หมายมั่นปั้นมือกับโครงการนี้ไว้มาก เพราะจะทำให้การเดินทางเชื่อมต่อในพื้นที่อีอีซีสมบูรณ์ จากรถไฟไฮสปีดที่จะไปเริ่มต้นและสิ้นสุดที่สนามบินอู่ตะเภา
อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มซีพีมาวินเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด แต่ในแง่กระบวนการทางกฎหมายยังต้องสู้กันต่อ เพราะคณะกรรมการคัดเลือกเตรียมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ หลังมีข้อมูลสำคัญอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ชี้แจงต่อศาลฯ แต่สุดท้ายแล้วหลายๆ ฝ่ายเห็นตรงกันว่าไม่น่ามีอะไรผิดพลาด ดีลนี้น่าจะจบลงและเซ็นสัญญากันได้ในไตรมาส 1 นี้
หันมาดูราคาหุ้นของกลุ่มซีพีวานนี้ (16 ม.ค.) ก่อนที่จะทราบผลการประมูล ปรากฏว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นคึกคัก ไล่มาตั้งแต่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ปิด 74.25 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 บาท หรือ 3.48%, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ปิด 30.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท หรือ 2.54% ส่วนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ปิดไม่เปลี่ยนแปลงที่ 4.14 บาท
อีกหนึ่งดีลใหญ่ที่มีชื่อกลุ่มซีพีสนใจเข้าร่วมประมูล คือ การซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีการประเมินว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 9 พันล้านดอลลาร์ หรือ เกือบ 3 แสนล้านบาท เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งดีลระดับเจ้าสัว เพราะไปเข้าตา 3 มหาเศรษฐีตระกูลดังของประเทศ ทั้งกลุ่มซีพีของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งก่อตั้ง “โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ขึ้นมากับมือตั้งแต่ปี 2537 ก่อนขายกิจการให้กับกลุ่มเทสโก้ จากประเทศอังกฤษ
ส่วนที่ประกาศชัดเจนแล้วว่าเข้าประมูลแน่นอน คือ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี อีกหนึ่งตระกูลที่มีข่าวว่าสนใจเช่นกัน คือ จิราธิวัฒน์ หรือ กลุ่มเซ็นทรัล
ขยับไปดูในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม การประมูล 5จี กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 16 ก.พ. นี้ ซึ่งบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เข้าไปรับเอกสารเป็นรายแรก ขณะที่ กสทช. คาดหวังได้เงินจากการประมูลครั้งนี้รวมทั้งหมด 54,654 ล้านบาท
หากไล่ดูกันแล้วกลุ่มซีพีจำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล อาจเริ่มตั้งแต่ 5 แสนล้านบาท ถ้าได้อู่ตะเภาพร้อมกับไฮสปีดเทรน และอาจพุ่งทะลุไปเกือบ 9 แสนล้านบาท ถ้ารวมเทสโก้ โลตัส และ 5จี เข้าไปด้วย ถือเป็นภาระที่หนักไม่น้อย แต่เชื่อว่าเรื่องแหล่งเงินไม่ใช่ปัญหา ด้วยชื่อชั้นของซีพี แบงก์ต่างๆ พร้อมสนับสนุน แต่ที่อยากรอดูมากกว่า คือ ซีพีจะตัดสินใจต่อจิ๊กซอว์เดินเกมธุรกิจต่อไปอย่างไร