จับตาประมูล 5จี เมื่อทุนใหญ่อาจ 'ถอย'
การประมูล 5จี เป็นประเด็นที่น่าจับตา ที่ปัจจุบันมีโอเปอเรเตอร์รวม 5 ราย แต่ล่าสุดดูจะไม่ราบรื่นนัก เพราะหนึ่งในโอเปอเรเตอร์มีการเปลี่ยนตัวซีอีโออย่างกะทันหันเพราะความเห็นต่าง รวมถึงประเด็นราคาคลื่น ที่ต่างจากต่างประเทศ โจทย์นี้อาจทำให้นักลงทุนไม่อิน
การประมูล 5จี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 ก.พ.2563 ยังเป็นคงเป็นประเด็นที่น่าจับตา ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันให้มี 5จี ในไทยได้เร็ว เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดการณ์ว่า รัฐจะมีรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ 54,654 ล้านบาท จากการขายใบอนุญาตได้ 25 ใบ ในจำนวนใบอนุญาตที่เปิดขายทั้งหมด 56 ใบ และมั่นใจว่า เมื่อประเทศขับเคลื่อน 5จีแล้ว จะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจปี 2563 มีมากถึง 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) และภายในปี 2565 คาดว่า 5จี จะดันมูลค่าทางเศรษฐกิจทะยานไปมากกว่า 476,062 ล้านบาท
ปัจจุบันโอเปอเรเตอร์รวม 5 ราย ได้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ 5จี จากสำนักงาน กสทช. เป็นที่เรียบร้อย ดูเหมือนว่าวันประมูลจะมีความคึกคักไม่น้อย
หากล่าสุด ประมูล 5จี กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งภายในอย่างหนักของหนึ่งในโอเปอเรเตอร์ที่คาดว่า จะร่วมชิงชัยการประมูลครั้งนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนตัวซีอีโออย่างกะทันหันเพราะความเห็นต่าง ในการเข้าร่วมประมูล 5จี ด้วย เพราะเจ้าของทุน ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มทุนใหญ่จากต่างประเทศ ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้อง “รีบ” ประมูล หากแต่ควรรอความพร้อมของคลื่นที่สามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริงจะดีกว่า รวมถึง "ราคาคลื่น" ที่อาจจะเป็นอีกประเด็นสำคัญของความขัดแย้งในครั้งนี้
"ราคาคลื่น" ยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถกเถียงกันมายาวนานในการประมูลคลื่นความถี่ในประเทศไทย ด้วยเพราะในต่างประเทศนั้น หลายๆ ประเทศที่มีการประมูลมักมีราคาที่ต่ำมาก หรือบางประเทศก็ให้ฟรี แต่ในไทยเองเราตั้งโจทย์ไว้ว่า รัฐควรต้องทำเงินได้มากๆ ทำรายได้ให้ธุรกิจโดยรวม มีส่วนทำให้จีพีดีประเทศโต โจทย์นี้จึงอาจทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะต่างชาติเองอาจไม่อิน เพราะยังมองไม่เห็นการ "คืนทุน" จึงยังไม่อยากรีบประมูลในเวลาที่ยังไม่ใช่ หากขณะเดียวกัน ก็มีคำถามถึงความจริงใจนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกันว่า จะตั้งหน้าตั้งตาเก็บดอกผลแต่เพียงอย่างเดียวหรืออย่างไร หรือจริงๆ แล้ว เราควรปรับกฎเกณฑ์การประมูลบางอย่างเพื่อให้สอดคล้อง เหมาะสมเป็นสากล เพื่อจูงใจและดึงดูดการลงทุน และสร้าง "ผู้เล่นหน้าใหม่" เข้ามาสร้างสีสันในตลาด (โทรคม) ไทยได้บ้าง