'ไวรัสอู่ฮั่น' เล่นงานหุ้นท่องเที่ยว หวั่นกระทบช่วงตรุษจีน
ภาวะสุขภาพถือว่าเป็นประเด็นสำคัญไปแล้วกับภาพการท่องเที่ยวหลังจากมีปัจจัยลบเข้ามากระทบอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ยิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีค่าสูงเกินมาตรฐานไปแล้ว
ภาวะสุขภาพถือว่าเป็นประเด็นสำคัญไปแล้วกับภาพการท่องเที่ยวหลังจากมีปัจจัยลบเข้ามากระทบอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ยิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีค่าสูงเกินมาตรฐานไปแล้ว จนทำให้กรุงเทพฯ ติดอันดับภาวะอากาศแย่ต้นๆของโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน
สิ่งที่น่ากังวลใจมากกว่านั้น คือ การเกินโรคระบาดไวรัสปอดอักเสบ เริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่ปลายปี 2562 มีการเรียกไม่ว่าจะเป็น โรคไวรัสโคโรนา โรคไวรัสอู่ฮั่น หรือโรคไวรัสปอดอักเสบ จากนั้นเริ่มมีข่าวการระบาดจากคนจีนหรือต่างชาติที่เดินทางออกนอกประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไทย
โดยไทยพบผู้ป่วย 2 รายที่เข้าข่ายและเมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” รายแรกนอกพื้นที่เมืองอู่ฮั่น และกลายเป็นประเทศแรกที่สามารถยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อ ทำให้ทางการตื่นตัวตั้งศูนย์ดูแลผู้ที่เข้าออกนอกประเทศโดยเฉพาะประเทศต้นทางที่เกิดโรคระบาด
ล่าสุดสถานการณ์มีแนวโน้มในเชิงลบหลังจีนพบผู้ป่วยไวรัสอู่ฮั่นวันเดียว139 ราย ซึ่งเป็นการระบาดไปเมืองต่างๆ สามารถติดเชื้อจากคนสู่คนได้ ยังรู้สาเหตุและรักษาได้ ทางการจีนอ้างมีผู้ติดเชื้อในจีน 217 เคส เสียชีวิต 4 ราย แต่ต่างประเทศคาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อน่าจะมากกว่า 1,700 เคส ส่งผลทำให้เกิดความกังวลเพราะในช่วงสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ เข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวจีนออกเดินทางนอกประเทศจำนวนมาก
โดยมีการคาดหมายจากบริษัทนำเที่ยวออนไลน์รายใหญ่ของจีน ‘ซีทริป’ คาดตรุษจีนปี 2563 มีวันหยุด 7 วัน (24-30 ม.ค.) คนจีนจะเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ 400 ล้านทริป โดยมีทริปท่องเที่ยวในต่าประเทศ 7 ล้านทริป
ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจำนวนเที่ยวบินจากจีนมาไทยในช่วง 7 วัน เพิ่มขึ้น 2.1 % เป็น 1,500 เที่ยวบิน ส่งผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงเทศกาลตรุษจีนมาไทยอยู่ที่ 1.01 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.5% จากปีก่อน ซึ่งในช่วง 11 เดือน ปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 35.9 ล้านคน
ส่งผลทำให้เกิดความกังวลใจต่อภาพการท่องเที่ยวรวมทั้งผู้ให้บริการสนามบิน ทำให้วานนี้หุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวโดยเฉพาะโรงแรมปรับตัวลดลงติดตลาดในแดนลบ มีบริษัท ดิเอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW มีรายได้จากโรงแรมในประเทศมากที่สุดปรับตัวลงหนัก 0.50 บาท หรือ 9.62 % ปิด 4.70 บาท
ขณะที่ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ราคาหุ้นปรับตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 7 เดือน ราคามาปิดที่ 33.00 บาทลดลง1.75 บาท เปลี่ยนแปลง 5.04 % เช่นเดียวกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดราคาร่วงมาปิด 72.00 บาท ลดลง 2.25 บาท เปลี่ยนแปลง 3.03 %
สอดคล้องกับมุมมองของนักวิเคราะห์ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ มีมุมมองเชิงลบต่อประเด็นดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่สามารถควบคุมได้ และสร้างความกังวลต่อการแพร่ระบาดเพิ่มเติมในอนาคต
จากการศึกษาโรคระบาดในอดีต (เช่น SARS และ ไข้หวัดนก) พบว่าหุ้นกลุ่มโรงแรมมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเฉลี่ย 5% ในรอบ 1 เดือน หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย จึงแนะนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงแรมเพื่อรอดูความชัดเจนต่อไป
ด้านบล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กลับมีมุมมองเป็นบวก ต่อกลุ่มท่องเที่ยวของไทยในระยะยาว แม้ว่าราคาหุ้นท่องเที่ยวจะปรับตัวลดลงไป 3-8 % เนื่องจากอดีตการพบโรคระบาดเช่น โรคซาร์สปี 2546 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 50 % จากปีก่อน แต่ฟื้นตัวได้ในช่วง 3 เดือน
ส่วนปี 2558 โรคเมอร์สที่ไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรก ราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวลดลงจากระดับสูงสุด 5-11 % แต่ในปีนั้นมีปัจจัยลบอื่นคือธุรกิจสายการบินแรงกดดันจากมาตรฐานการบิน ICAO
ทั้งนี้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ในช่วงที่เกิดโรคระบาดพบว่ามีผลกระทบระยะสั้นแต่ในระยะยาวสะท้อนได้ว่าการท่องเที่ยวของไทยสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว หากสถานการณ์สามารถควบคุมและจำกัดการระบาดได้