ไทย จับมือ กลุ่มเครนส์ ลดอุดหนุนสินค้าเกษตร
ไทย จับมือ 18 ประเทศกลุ่มเครนส์ ลดอุดหนุนสินค้าเกษตรบิดเบือนกลไกตลาด “จุรินทร์” เตรียมหารือในเวทีดาวอส สวิสเซอร์แลนด์ ยันไม่กระทบเกษตรกรไทย
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเครนส์ ซึ่งประกอบด้วย ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ขนาดเล็กและขนาดกลาง มี 19 ประเทศ คือ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา กัวเตมาลาอินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปารากวัย เปรู ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ เวียดนาม อุรุกวัย และไทย โดยมีจุดมุ่งหมายในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรอย่างเสรีและเป็นธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้บริโภคสินค้าเกษตรอย่างแท้จริง
โดยการประชุมจะมีขึ้น วันที่ 23 ม.ค. 2563 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนจะเป็นตัวแทนฝ่ายไทยเข้าร่วมประชุม และข้อสรุปจากการประชุมดังกล่าวจะผลักดันสู่ที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าโลก ในเดือนมิถุนายน ณ ประเทศคาซัคสถาน
สำหรับสาระสำคัญของถ้อยแถลงประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การจำกัดและลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรภายในประเทศตามข้อผูกพันWTO เนื่องจากพบว่า มูลค่าโดยรวมของการอุดหนุนภายในที่ก่อให้เกิดการบิดเบือนการค้า ทุกประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจมีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 และ 2.การผลักดันให้มีการเจรจาเพื่อลดมูลค่าการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนการค้าโดยรวมที่สมาชิกWTO ทุกประเทศผูกพันไว้ อย่างน้อย 50% ภายในปี 2573 ครอบคลุมการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนการค้าทุกประเภท
ส่วนประเทศที่มีการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่บิดเบือนการค้ามากเป็นลำดับต้นๆของโลก ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป อินเดีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และบราซิล ซึ่งข้อเสนอของกลุ่มเครนส์ จะส่งผลให้ประเทศสมาชิกWTOที่ให้การอุดหนุนสินค้าที่บิดเบือนการค้าต้องปรับลดการอุดหนุนลงตามสัดส่วน หากให้การอุดหนุนมากก็ต้องลดการอุดหนุนลงมาก การปรับลดการอุดหนุนจะทำให้การแข่งขันในตลาดโลกมีความเป็นธรรมมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการขายสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลก
สำหรับประเทศไทยมีการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่บิดเบือนการค้าคิดเป็น 1% ของมูลค่าการอุดหนุนโดยรวมของประเทศสมาชิกWTO และเป็นการอุดหนุนแบบเฉพาะเจาะจงรายการสินค้า เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ข้าวโพด ซึ่งอยู่ในระดับขั้นต่ำ สามารถทำได้ตามกติกาWTOที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 10% ของมูลค่าการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งการอุดหนุเแบบเฉพาะเจาะจงรายการสินค้า และแบบไม่เฉพาะเจาะจง