โฟนอิน 'ประสิทธิชัย' สร้างมาตรฐาน 'สิทธิผู้ต้องหา' ครั้งประวัติศาสตร์

โฟนอิน 'ประสิทธิชัย' สร้างมาตรฐาน 'สิทธิผู้ต้องหา' ครั้งประวัติศาสตร์

การโฟนอินผู้ต้องหา "ประสิทธิชัย" ครั้งแรกในประวัติศาสตร์จุดเริ่มต้นของการสร้างมาตรฐาน "สิทธิผู้ต้องหา" ใหม่ในกระบวนการยุติธรรมไทย

การแถลงผลการจับกุม นายประสิทธิชัย เขาแก้ว หรือ "ครูกอล์ฟ" ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาในคดีใช้อาวุธปืนฆ่า 3 ศพ ชิงทอง 28 บาทในห้างดัง จ.ลพบุรี เมื่อ 10.30 น. ของวันที่ 23 มกราคม 2563 ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจาก เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ได้นำของกลางที่ตรวจยึดได้รวมทั้งหมด 13 รายการมาจัดแสดงแล้ว ยังเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามนายประสิทธิชัย ที่ยังถูกคุมขังอยู่กองปราบ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนท์

ถือเป็นการ โฟนอิน ผู้ต้องหา ครั้งแรกในประวัติศาสตร์!

การโฟนอินครั้งนี้ถือเป็นการพลิกโฉมกระบวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสร้างมาตรฐานใหม่ในการรายงานผลคดีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนี่ถือเป็นการปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรม อันเป็น "สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิก่อนศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องหาในคดีอาญาทุกคน พึงได้รับการคุ้มครอง" ในกรณีนี้ก็หมายถึงตัว "ครูกอล์ฟ" นั่นเอง

ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสื่อมวลชนหลายครั้ง โดยเฉพาะการจัดแถลงข่าว หรือจัดทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ในคดีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะชน มักทำให้ "สิทธิ" ดังกล่าวได้รับผลกระทบอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำระหว่างการแถลง หรือการนำเสนอที่เข้าข่ายลักษณะการสร้างชุดความเชื่อบางอย่างให้กับสังคมจนเกิดปฏิกริยาสะท้อนกลับ อย่างในกรณีของ "ครูกอล์ฟ" เองก็ได้แสดงผลกระทบกับสังคมในมุมนี้อย่างกว้างขวางเช่นกัน

โดยตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2563 ที่มีการรายงานถึงการเตรียมเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ แฮชแท็ก #ปล้นทองลพบุรี #โจรชิงทองลพบุรี ก็ถูกรีทวิตในทวิตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 3 แสนครั้ง ขณะที่ความเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊คได้มีการสร้างเฟซปลอมของ "ครูกอล์ฟ" ขึ้นมากว่า 10 แอดเคานท์ ทำให้มีผู้คนเข้าไปรุมประณาม และด่าทอด้วยอารมณ์โกรธแค้นมากมาย ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่เข้าไปแสดงความไม่เห็นด้วยถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมในลักษณะนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เฟซบุ๊คของผุ้ต้องหาเองเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบไปยังคนรู้จัก และครอบครัวของ "ครูกอล์ฟ" อีกด้วยจนบางคนต้องทำการปิดเฟซบุ๊คของตัวเองไป

ขณะที่พาดหัวข่าวที่ปรากฏในสื่อก็มีตั้งแต่คำว่า "โจรเหี้ยม" "โจรอมนุษย์" หรือ "ไอ้เหี้ยม" และมีผู้คนเข้าไปแสดงความเห็นกันอย่างล้นหลามด้วยเช่นกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รายละเอียดการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่ศาลยุติธรรมเคยจัดอบรมนั้นสรุปคร่าวๆ ว่า "ผู้ต้องสงสัย" เป็นคำเรียกที่ใช้ก่อนแจ้งข้อหา, "ผู้ต้องหา" เป็นคำเรียกที่ใช้หลังแจ้งข้อหา ขณะที่ "จำเลย" จะใช้ตอนคดีถึงศาล

นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดที่ กลุ่มงานคดีทั่วไป สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เคยเผยแพร่ไว้ถึง "สิทธิผู้ต้องหา" ว่า สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดจะแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้

ขณะเดียวกัน แนวทางปฏิบัติในการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว ระเบียบปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีระบุเอาไว้หลายข้อเช่นกัน อย่าง คําสั่ง สตช. ที่ 855/2548 ซึ่งกําหนดแนวทางการปฎิบัติการให้ข่าว แถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนดังนี้

1.2.1 ผู้มีอํานาจหน้าที่ให้ข่าว แถลงข่าว หรือ ให้สัมภาษณ์ต้องปฏิบัติภายในขอบเขตอํานาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ควรระมัด
ระวังถ้อยคํา หรือกิริยาท่าทาง อันจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น และควรใช้ถ้อยคําที่เป็นกลางเพื่อไม่ให้เป็นการประจาน ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น

1.2.2.5 ห้ามให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ในกรณีที่ เป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบหรือเสียหายต่อคดี โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในระหว่างการสืบสวนหรือสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น

1.2.4 ห้ามนําหรือจัดให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน มาให้ข่าวแถลงข่าวหรือ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ยกเว้นกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน จึงให้ขออนุญาตต่อผู้บัญชาการ

หรือ คําสั่ง สตช. ที่ 465/2550 ที่กําหนดว่า

ห้ามหรือจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงถ่ายภาพ สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวของผู้ต้องหา ในระหว่างการควบคุมของตํารวจทั้งภายในและภายนอกที่ทําการหรือสถานีตํารวจเว้นแต่พนักงานสอบสวนดําเนินการเพื่อประโยชน์แห่งคดี หรือได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหา เหยื่ออาชญากรรม หรือผู้เสียหาย

การเปิดวิดีโอคอนเฟอร์เรนท์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในคดีของ "ครูกอล์ฟ" ครั้งนี้ จึงถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ ให้กับกระบวนการยุติธรรม และรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับคดีของสื่อมวลชนอย่างแท้จริง