‘ภาวะผู้นำ’ ที่ตอบโจทย์Business Ecosystem
“ผู้นำจะต้องเก่งทั้งคน เก่งเทคโนโลยี และเก่งงาน" จึงจะสามารถตอบโจทย์โลกในเวลานี้ให้ความสำคัญกับเทรนด์ที่กำลังมาแรงนั่นคือ “ระบบนิเวศทางธุรกิจ” (Business Ecosystem)
”ระบบนิเวศทางธุรกิจคืออะไร? “รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข” ที่ปรึกษาอิสระด้านการบริหารและพัฒนาผู้นำ อธิบายขยายความคำว่า ระบบนิเวศทางธุรกิจ เป็นแนวคิดของ “ศาสตราจารย์เจมส์ มัวร์” แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ใน “ฮาร์วาร์ด บิสิเนส รีวิว” เมื่อปีค.ศ.1993 โดยเปรียบว่าระบบของธุรกิจก็เหมือนกับระบบนิเวศทางธรรมชาติที่ต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เข้าทำนอง “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” เขาอยู่ได้เราอยู่ได้ เขาอยู่ไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้
“เพราะการจะรอดแค่เราองค์กรเดียวคงไม่ได้ ต้องเปลี่ยนและรอดได้ทั้งระบบนิเวศ ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่ง องค์กรใดองค์กรหนึ่งไม่เปลี่ยน ไม่รอด ที่สุดก็จะส่งผลกระทบทั้งหมด”
เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงกันของ “ห่วงโซ่ทางคุณค่า” หรือ Value Chain ระบบนิเวศจะขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไปไม่ได้ และแต่ละองค์ประกอบต่างก็ต้องแข็งแรงเพื่อให้ระบบนิเวศที่อยู่มีความแข็งแกร่ง
ข้อสำคัญก็คือต้องมีความสามารถ มีความยืดหยุ่น ปรับตัวและรับมือกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ สังคม โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทัน แนวคิดดังกล่าว มีรากความคิดมาจากคำว่า “Shared” ในระบบนิเวศทางธุรกิจจึงมีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ซึ่งมีจุดดีก็คือ เมื่อมีผู้คนที่หลากหลายมารวมกันซึ่งความคิดและความเชี่ยวชาญของแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันและความแตกต่างก็จะนำมาสู่มุมมองที่หลากหลาย ในเวลาเดียวกันก็มีความท้าทายด้วย เพราะมุมมองที่มีแตกต่างหากสบกันไม่ลงตัวก็คงลำบาก
ผู้นำในยุคนี้จึงต้องเก่งรอบด้าน ต้องมีมุมคิดที่ทั้งกว้าง ลึก และไวขึ้น ต้องคมขึ้นด้วย
อาจารย์ศิริยุพาบอกว่า ในเวที "โกลบอล ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ ฟอรั่ม" ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา เมื่อปีที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดถึงเรื่องของ “Ecosystem Business” และ “Ecosystem Leadership” ผู้นำที่จะสามารถรับมือกับความซับซ้อนที่มากขึ้นและยากขึ้นได้จำเป็นต้องมีความสามารถ 5-6 ประการ ได้แก่ Cooperation ,Flexibility ,Perceptiveness, Listening ,Introspectivenessc และ Conciousness
ผู้นำต้องเก่งเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีมเป็น ต้องใจกว้าง มีการฟังที่ดี ต่างไปจากผู้นำสมัยก่อนที่อาจจะคิดคนเดียว ทำคนเดียว พูดคนเดียว สั่่งการ ควบคุม แต่เวลานี้แต่ละคนก็จะเก่งในมุมของเขา ผู้นำจึงต้องฟัง ต้องเคารพ ก็ต้องฝึกในการหัดรับฟังฟังให้เก่ง เปิดใจยอมรับ ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน
ผู้นำต้องมีความยืดหยุ่น ในการสร้างระบบนิเวศจะต้องทำให้แต่ละห่วงโซ่มีความแข็งแร่งและเกี่ยวเกาะกันได้แข็งแรงด้วยนั้น แน่นอนในระบบเศรษฐกิจที่มีปัจจัยภายนอกและภายในกระทบค่อนข้างมากทั้งแรงงานไม่พอ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว ยิ่งถ้าทำเป็นกลุ่ม ดังนั้นเมื่อเวลาเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนให้ทันด้วย ก็ต้องอาศัยความยืดหยุ่น มีความปราดเปรียว ว่องไวที่สูงยิ่งขึ้นไปอีกผู้นำต้องหูไวตาไว มีมุมมองกว้างขวาง เพราะในระบบนิเวศน์ ต้นไม้ที่ไม่สามารถกระทบหนาวและร้อนได้ดีก็มักจะอยู่ได้ไม่ค่อยรอด จึงต้องพยายามสร้างภูมคุ้มกันที่ดี ก็มีเรื่องความคล่องตัว ต้องเป็นคนที่เปิดช่องทางในการสื่อสารระหว่างกันได้ดี ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงดี ต้องรู้จักประเมินสถานการณ์อยู่เสมอ เพื่อนำมาปรับวิสัยทัศน์ที่สอดคล้อง
"เรื่องของวิสัยทัศน์องค์กร เมื่อก่อนองค์กรจะมองได้ไกลถึง 5ปี 10ปี แต่เวลานี้ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วจนทำให้คาดการณ์ไม่ได้ว่าโลกอนาคตในอีก 10 สิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จึงมองได้แค่ใกล้ๆแต่เวลาเดียวกันจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์กรอยู่ตลอดเวลา รอบในการเปลี่ยนต้องเร็วขึ้น จะคิดเปลี่ยนทุกๆ 10 ปีเหมือนที่เคยทำมาคงไม่ได้ ก็เหมือนการเปลี่ยนรุ่นของมือถือ ที่แต่ละปีก็ต้องพัฒนารุ่นใหม่ ๆออกมาเสมอ"
ผู้นำต้องพึงระลึกเสมอว่าเวลาจะทำอะไรก็ตาม จะต้องเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ที่อยู่ ไม่คิดแค่มุมของการแข่งขัน ฟาดฟันกันอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมองถึงความร่วมมือ ต้องเดินไปพร้อมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
"นอกจากนี้ เท่าที่ได้ดูข้อมูลมาจากหลายๆแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารฟอร์บส์ หรือในเวทีเวิล์ดอิโคโนมิค ฟอรั่ม ตลอดจนความเคลื่อนไหวด้านแรงงานในภูมิภาคเอเชีย มีการพูดกันว่า จะต้องจับตาผู้หญิงที่มีภาวะผู้นำซึ่งกำลังก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสังคมธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยเราจำนวนผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารระดับสูงก็เป็นระดับท้อบ 5 ของโลก จำนวนประชากรหญิงเรามีการศึกษาสูงกว่าผู้ชาย ผู้หญิงถือเป็นอิทธิพลหรือพลังเงียบ ที่โลกมองว่าควรให้ความสนับสนุน เนื่องจากเวลานี้แรงงานเข้าสู่ภาวะสูงวัย เด็กเกิดใหม่ไม่ค่อยมี และจำนวนประชากรหญิงในหลายประเทศก็มีมากกว่าผู้ชาย ดังนั้นต้องพัฒนาผู้หญิงให้สามารถทำงานได้อย่างมีศักยภาพ และสวมบทบาทของผู้นำ"
เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันมีผู้หญิงก้าวเป็นผู้นำเบอร์หนึ่งอยู่ในหลายๆธุรกิจที่เดิมทีผู้ชายเคยจับจองไว้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเงินหรือธุรกิจเทคโนโลยีก็ตาม เรียกว่าธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงกายผู้หญิงเริ่มเข้ามาแทนที่ อาจารย์ศิริยุพาบอกว่าไม่ใช่การตัดสินว่าใครเก่งหรือฉลาดไปกว่ากัน และความเป็นจริงนั้นตามหลักธรรมธรรมชาติแล้ว รู้หรือไม่ว่าน้ำหนักสมองของผู้หญิงมีน้อยกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ แต่ข้อดีของผู้หญิงส่วนใหญ่อยู่ที่มีความอดทน มีวินัยและตั้งใจเรียนมากกว่า
เมื่อให้ก็จะพูดถึงในแง่ของการเป็นพนักงานธรรมดา ๆ อาจารย์ศิริยุพาบอกว่า ในเวทีเวิล์ดอิโคโนมิค ฟอรั่มบอกว่าควรมีทักษะอยู่ 10 ด้าน เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานโลกในยุคที่ว่าด้วยเรื่องของ “Agile” ได้แก่ 1.Complex problem solving 2.Critical thinking 3.Creative 4.People management 5.Coordinating with others
6.Emotional intelligence 7.Judgement and decision making 8.Service orientation 9.Negotiation
และ10.Cognitive fiexibility
โดยสรุปก็คือ ต้องแก้ปัญหาได้เก่ง มีความคิดเชิงวิเคราะห์ นำเอาข้อมูลหรือดาต้าต่างๆมาวิเคราะห์ นำมาใช้ในการวางแผนและมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างผลงานที่เป็นนวัตกรรม การทำงานในระบบนิเวศต้องการการทำงานเป็นทีมด้วย จึงต้องเป็นคนที่มีอีคิวสูง เพราะต้องทำงานกับคนมากมายที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ต้องตัดสินใจเก่ง คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียให้ครบ ซึ่งในการตัดสินใจนั้น น้ำหนักที่ต้องใช้จะไม่ใช่แค่เป็นตัวเลขเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของ “นามธรรม” ก็คือเรื่องจิตใจ วัฒนธรรม สังคม ฯลฯ ต้องเก่งในเรื่องการเจรจาต่อรอง เป็นคนมีจิตใจเปิดกว้าง ปรับเปลียนความคิดและรู้จักพลิกแพลง
"แต่ส่วนตัวที่ให้น้ำหนักจริงๆ เป็นเรื่องของจริยธรรมซึ่งทั่วโลกกำลังประสบปัญหานี้ ในแง่ของธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วย มองว่ายังไม่มีใครให้ความสำคัญในมุมนี้สักเท่าไหร่ ทั้งๆที่ผู้บริโภคเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่สุด ภาพที่เห็นก็คือ ถ้าประเทศไหนมีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ผูกขาด สร้างระบบนิเวศของตัวเองได้ เสียงของผู้บริโภคก็จะเบา ไม่มีทางเลือก ในเมืองไทยผู้บริโภคเรามีแค่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงคิดว่าผู้บริโภคน่าจะรวมตัวกันสร้างระบบนิเวศของเราเอง เพราะที่ผ่านมาเราค่อนข้างเป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด "