เด็กเก่งช่วยเด็กอ่อน@ศตวรรษที่ 21 นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ
“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ถือเป็นเรื่องใหญ่ของการศึกษาไทยที่รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามจะขจัด ลดปัญหาเรื่องนี้ ทว่าด้วยความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศมีช่องว่างระหว่างความรวย ความจนยังห่างกันอีกมาก
การแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวจึงต้องใช้เวลา และพยายามหาแนวทางสารพัดเพื่อทำให้แนวโน้มความเหลื่อมล้ำปรับตัวดีขึ้น
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งในศตวรรษที่ 21 นี้ กสศ.ได้มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยจะเน้นเรื่องการใช้นวัตกรรมเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมาเราเรียนรู้ในศตวรรษที่ 20 ว่าการทำงานแบบเดิมก็จะได้ผลแบบเดิม แต่ถ้าเเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจะได้ผลแบบใหม่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
“ไกรยส ภัทราวาท” รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า “ภายในสำนักงานใหม่ของ กสศ. ได้มีการจัดพื้นที่การเรียนรู้เป็นห้องเรียนเสมอภาค ที่มีผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ และคุณครูที่มีประสบความสำเร็จจากการพัฒนานวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำในห้องเรียน มาสาธิตรูปแบบการจัดห้องเรียนที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเด็กหน้าห้องและหลังห้องได้
ซึ่งการเปิดพื้นที่ดังกล่าว จะเป็นการสาธิตให้สถาบันทางการศึกษาและหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ไม่ได้มีรูปแบบเดียว แล้วถ้าโจทย์ที่ว่าคือความเสมอภาค เราก็อยากใช้เครื่องมือการสื่อสารทางสังคมที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน มาช่วยถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกไป หน่วยงานที่สนใจอยากจะนำไปใช้ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ดูแลโรงเรียนอยู่ หรือกระทรวงศึกษาธิการเขตพื้นที่ไหนอยากจะเอาไปทดลองในพื้นที่ตัวเอง กสศ.ก็พร้อมจะให้การสนับสนุนทางวิชาการหรืองบประมาณในการดำเนินงานให้เกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ การจัดพื้นที่การเรียนรู้ให้เป็นห้องเรียนเสมอภาคสามารถทำได้ตั้งแต่การจัดห้องเรียน การจัดโต๊ะไม่จำเป็นต้องเป็นคลาสรูม เป็นแถวตอน จัดเป็นแปดเหลี่ยม วงกลม หรือไม่มีโต๊ะเลยก็ได้ เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาเด็กหน้าห้องเด็กหลังห้อง ส่วนเด็กที่มีความด้อยโอกาสต่างๆ จะมีนวัตกรรมหรือกลวิธีอะไรที่จะทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความสนใจและมีขีดความสามารถไม่แพ้เพื่อนๆ ที่เรียนเก่ง
เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาในการวิจัย 3 ปี โดยในช่วงปีแรกจะเป็นการออกแบบมาตรการ เครื่องมือ วิธีการ ปีที่2 จะเป็นการทดลองในพื้นที่จริงและประเมินผล ซึ่งพื้นที่ที่ทดลองจะเน้นไปที่กลุ่มเครือข่ายและเลือกพื้นที่ที่เค้าอยากทำ พื้นที่ที่แสวงหามาตรการหรือนวัตกรรมในการลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากทำอะไร กสศ. จะเลือกพื้นที่แบบนั้นและเมื่อเค้าประสบความสำเร็จ สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมทดลองก็จะได้เป็นแกนนำในการขยายผลต่อไปในอนาคต ส่วนปีที่ 3 จะเป็นการทำข้อเสนอเชิงนโยบาย หลังจากนั้นถึงจะสามารถนำไปใช้ได้จริง
“อยากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้นวัตกรรมเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในสถานศึกษา คุณครูจะได้มีความกล้าที่จะเปลี่ยนออกมาจากกรอบเดิมๆ กล้าที่จะเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อให้ได้ผลแบบใหม่ ถ้าหากสังคมช่วยกัน คุณครูกล้าที่จะเปลี่ยน ขณะที่ภาคนโยบายเปิดโอกาสให้คุณครูและโรงเรียนได้ปรับตัว เราก็มีความหวังที่จะเห็นรูปแบบการทำงานด้านการศึกษาใหม่ๆ ในอนาคต”รองผู้จัดการ กสศ. กล่าว
ทั้งนี้ เดือนก.ค.2563 นี้ กสศ. จะจัดประชุมวิชาการนานาชาติ โดยการรวบรวมภาคี หน่วยงานทางด้านวิชาการและด้านนโยบายที่ทำภารกิจเกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษาให้มารวมตัวกัน เพื่อพูดคุย หารือกัน มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพราะบางประเทศภาคเอกชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือบางประเทศก็จะมีกองทุนในลักษณะเดียวกับ กสศ. เช่น ฮ่องกง ก็จะมีกองทุนที่จะเน้นไปทำงานที่โรงเรียน จะเน้นการทำโครงการอยู่ที่โรงเรียนเหมือนกัน
“รัชดาภรณ์ ถาวร” โรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ สพป.ปทุมธานี กล่าวว่า นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ถือเป็นประโยชน์กับครูและโรงเรียนเป็นอย่างมาก เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่เกือบทุกแห่งจะมีปัญหาเรื่องของเด็กเรียนอ่อนและเด็กเรียนเก่งจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
“นวัตกรรมที่กสศ.ดำเนินการขึ้นมา เป็นการรับรู้ว่าทางโรงเรียนมีปัญหาอะไร แล้วมาช่วยเสริมสนับสนุนทำให้ครูมีกำลังใจในการทำงาน โดยเวลาครูสอนในห้องเรียน เด็กเก่งจะตอบคำถามได้ไว เรียนรู้เร็ว แต่เด็กอ่อนเค้าจะเรียนรู้ช้า เวลาสอนครูจะต้องไปนั่งประกบสอนตัวต่อตัว หรือถ้ามีมากกว่าหนึ่งคน ก็จะจับกลุ่มให้เด็กอ่อนมานั่งด้วยกันแล้วทำไปพร้อมกัน เด็กก็จะทำได้ หรือไม่ครูก็ต้องสอนซ่อมเสริมในช่วงพักกลางวัน หรือตอนเย็นหลังเลิกเรียน ทุกวันนี้แก้ปัญหาแบบนี้”รัชดาภรณ์ กล่าว
"อนงค์ นามป่าไสย" ครูโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กทม.กล่าวว่านักเรียนทุกห้องมีทั้งเด็กเก่ง เด็กอ่อน และเด็กสมาธิสั้นเรียนร่วมกัน ส่งผลให้เวลาที่ครูสอนจะมีปัญหาเด็กที่เรียนเก่งจะรู้สึกว่าทำไมคุณครูต้องสอนช้า ขณะที่เด็กกลุ่มที่เรียนระดับกลางจะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากเรียน ดังนั้นครูต้องมีความเข้าใจและสนใจเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ต้องจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กอ่อนได้แสดงศักยภาพของตนเองจะได้ไม่เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
“อยากให้ครูทุกคนมองว่าเด็กอ่อน สามารถพัฒนาได้ เพราะทุกคนมีศักยภาพในตัวเองไม่ต่างกัน บางครั้งเด็กอ่อนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวถ่วง โรงเรียนจะจัดการเรียนการสอนแบบกลุ่มเพื่อให้เด็กทุกคนได้ออกมาทำกิจกรรม เด็กที่ไม่เก่งวิชาการอาจจะชอบวาดภาพระบายสี ต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงศักยภาพในสิ่งที่เขาทำได้ รวมถึงจัดการเรียนการสอนแบบบัดดี้ คือให้เด็กเก่งหรือเรียนระดับกลางช่วยเพื่อนที่เรียนอ่อน เพื่อไม่ให้เขามองว่าเพื่อนเป็นตัวถ่วง ฝึกให้เขาคอยช่วยเหลือกัน สิ่งสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ คือครูต้องมีความอดทน ต้องคอยปรึกษาเพื่อนครูด้วยกันเพื่อที่จะช่วยกันดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ประสานการเรียนการสอนในแต่ละวิชา อย่าทอดทิ้ง ต้องใส่ใจ หมั่นสังเกตอาการ และให้ความรักความดูแลเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม” อนงค์ กล่าว