โลกเปลี่ยน-สังคมเปลี่ยน“ครู”อยู่ ปรับตัวรับลูกศิษย์เจนเนอเรชั่นZ
“ครู” เป็นหนึ่งในต้นแบบของใครหลายคนที่ใช้เป็นแบบอย่างทั้งในการเรียน การตามหาความฝัน และการใช้ชีวิต แล้วในยุคเทคโนโลยีที่เด็กๆ สามารถพบเจอต้นแบบ และเข้าถึงองค์ความรู้ได้มากมาย แต่“ครู” ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก
ปวีณา แช่มช้อย อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้เชี่ยวชาญด้านการละครเพื่อการเรียนรู้และพิธีกรรมศึกษา หนึ่งในวิทยากรจากเพจก่อการครู ที่เชื่อว่าครูแต่ละคนมีเวทมนตร์ของตนเอง ที่ไม่ใช่เทคนิคการสอนแต่เป็นตัวตนของครู ซึ่งแต่ละคนมีตัวตน และมีศักยภาพต่างกัน ซึ่งการที่ครูแต่ละคนใช้ศักยภาพและตัวตนของตัวเองได้อย่างคล่องแคล่ว ก็เหมือนครูได้ใช้เวทมนตร์ และตระหนักถึงการดำรงอยู่ของเวทมนตร์ ว่า ตัวเองมีดีอะไรที่นำมาใช้ในการสอน ในการดูแลผู้เรียน แล้วได้ผลที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจ ผู้เรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครู และผู้เรียนสามารถบรรลุผลการเรียนของตัวเองได้
“ปัจจุบันสังคม เรียกร้องให้ครูทำอะไรหลายอย่าง เรียกร้องให้ครูเป็นยอดมนุษย์ ครูต้องสอนเด็กจำนวนมาก ครูต้องทำได้ตามตัวชี้วัดทั้งหมด และนักเรียนของครูจะต้องประสบความสำเร็จตามที่เขาบอก ที่สำคัญขอให้ครูมีจิตวิญญาณของการเป็นครู โดยที่ไม่มีใครกลับมาดูว่าทำไมครูถึงไม่สามารถทำอย่างนั้น ดังนั้น ครูต้องรู้จักใช้เวทมนตร์ คือความสัมพันธ์ ที่ไม่ใช่แค่ของครูกับนักเรียน ครูกับครู หรือนักเรียนกับนักเรียนอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงไปถึงพื้นที่ในห้องเรียน ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับตัวเองด้วย ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญในการเรียนรู้”ปวีณา กล่าว
ครูต้องทำให้ห้องเรียนเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ลื่นไหลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน
ปวีณา กล่าวต่อว่าสร้างบรรยากาศในห้องเรียนมีความสำคัญ ซึ่งครูสามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงการมองเห็นเท่านั้น ต้องดูสายตาผู้เรียนที่เป็นประกาย สนใจครู มีความอินกับเรื่องที่ครูสอนหรือไม่ เพราะถ้าเด็กเพลินกับการเรียนรู้ไปกับครู ความสัมพันธ์ของครูกับผู้เรียน และช่วยให้เกิดการพัฒนาผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น (อ่านเนื้อหาเต็มได้ที่ https://readthecloud.co/people-24/)
ด้าน ศิโรจน์ ชนันทวารี โรงเรียนบ้านเจียรดับ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าหน้าที่ของครูตอนนี้ คือการให้เด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอน การเรียนของตนเอง เพราะองค์ประกอบการสร้างความสุขในโรงเรียนต้องเกิดจากทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงศธ. และครูเป็นส่วนสำคัญ เพราะต่อให้ข้าราชการครู ต้องรับนโยบายและหลักสูตรการศึกษาของภาครัฐก็จริง แต่สามารถปรับใช้ให้เกิดความสุขในห้องเรียนและปรับเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนให้มากที่สุดได้
“ครูและนักเรียนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ห้องเรียนมีความสุขได้ โดยครูต้องมองว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิเศษ เด็กที่มาจากครอบครัวหย่าร้างหรือไม่หย่าร้าง ครูต้องมองให้เห็นศักยภาพหรือความพิเศษของเด็ก และผลักดันให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมนกระบวนการเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน ต้องรู้จักถามเด็กเสมอว่า เด็กๆ อยากเรียนอะไร เด็ก ๆ มีความรู้สึกอย่างไรตอนนี้ ชอบหรือไม่ชอบอะไรในตัวเอง อยากให้ครูสอนอะไรบ้าง แล้วก็ถามความคิดเห็นของผู้ปกครองด้วยว่า เขาอยากเห็นเราสอนลูกหลานเขาไปในทิศทางไหน ก่อนเอาหลักสูตรหรือตัวชี้วัดมาจับความต้องการทั้งหมด ซึ่งการถามดังกล่าวทำให้เด็กมีความสุขมากกว่าครูบอกว่าเทอมนี้จะเรียนอะไรบ้าง”ศิโรจน์ กล่าว (อ่านเนื้อหาเต็มได้ที่ https://readthecloud.co/people-24/)
สมพร วิชัยประเสริฐ ครูชำนาญการพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ โรงเรียนบ้านสวนอุดมวิทยา จ.ชลบุรี กล่าวว่า การเรียน การสอนในยุคปัจจุบันครูต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กลงมือปฏิบัติ เรียนรู้จากของจริง ซึ่งครูต้องเป็นคนคิดกิจกรรม แบ่งกลุ่มให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมกันคิดออกแบบทั้งด้านการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงบูรณาการการเรียนรู้เข้ากับเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย สื่อสมัยใหม่
“ปัจจุบัน มีองค์ความรู้ให้เด็กได้เรียนรู้เยอะมาก ครูต้องทำให้ห้องเรียนกลายเป็นพื้นที่แห่งการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สร้างสถานการณ์ให้เด็กได้ทำงาน แก้ปัญหา เชื่อมโยงเข้ากับบทเรียนและการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันดังนั้น การที่จะจัดกิจกรรมจำลองสถานการณ์ในชั้นเรียน จัดทำโครงการต่างๆ ให้เด็กเป็นคนคิด ลงมือปฏิบัติ และพร้อมที่จะแข่งขันในการสอบต่างๆ ได้ด้วย” สมพร กล่าว
สมพร กล่าวอีกว่าครู เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กคนหนึ่งมีศักยภาพ มีองค์ความรู้ในการพัฒนาตนเอง ครูต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ จึงอยากให้ครูทุกคนเรียนรู้องค์ความรู้จากบทเรียน ควบคู่ไปกับความรู้ด้านไอซีที และมีความกล้าที่จะไปอบรม เรียนรู้ ครูต้องพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงรับสิ่งใหม่ๆ ไม่ยึดติด และรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งตัวครูเอง การจัดการเรียนการสอน และนำองค์ความรู้ถ่ายทอดไปยังเด็ก
ขอบคุณภาพประกอบจากเพจก่อการครู