เปิดความพยายามนานาชาติ พัฒนาวัคซีน ‘COVID-19’
หลายประเทศนำโดยสหรัฐ รวมถึงภาคเอกชน เร่งพัฒนาวัคซีนต่อสู้กับ “ไวรัสโคโรน่า 2019” ที่ยังแพร่ระบาดไม่หยุด แต่อาจต้องใช้เวลาทดสอบอีกพักใหญ่ก่อนนำมาใช้กับมนุษย์
ในขณะที่ผู้คนในกรุงปักกิ่งและทั่วประเทศจีน สรรหาสารพัดวิธีในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์กลางการระบาดอยู่ในเมืองอู่ฮั่น ตั้งแต่สวมหน้ากากอนามัย ฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อโรค และงดออกมาเดินนอกบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งเป็นเกือบ 6,000 คนและผู้เสียชีวิตกว่า 130 คนในจีน (นับถึงเช้าวันที่ 29 ม.ค.) บรรดานักวิจัยนานาชาติกำลังแข่งกับเวลาเพื่อเร่งพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสนี้ให้ได้
เริ่มจากในสหรัฐ แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อ ในการกำกับดูแลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นไอเอช) กล่าววานนี้ (28 ม.ค.) ว่า คณะนักวิจัยสหรัฐได้เริ่มวิเคราะห์ข้อมูลดิบเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่า 2019 ไปแล้ว และนักวิจัยที่ร่วมโครงการนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีน แต่ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะใช้กับมนุษย์ได้
"กระบวนการนี้จะใช้เวลา 3 เดือนกว่าเริ่มทดสอบครั้งแรกได้ และใช้เวลาอีก 3 เดือนในการเก็บข้อมูล ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่สอง และให้โมเดอร์นา บริษัทไบโอเทคดำเนินการต่อไป" เฟาซีเผย "แต่ขณะนี้เรากำลังดำเนินการเสมือนอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่ต้องใช้วัคซีนจริง ๆ และมีการแพร่ระบาดหนักขึ้น"
เฟาซี เคยระบุในบทความที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์จามาว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนับตั้งแต่การระบาดของโรคซาร์ส ช่วงปี 2545-2546 ส่งผลให้การพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ นักวิจัยใช้ข้อมูลจากการถอดลำดับจีโนมของไวรัสซาร์ส มาเป็นประโยชน์สำหรับการทดสอบวัคซีนดีเอ็นเอระยะที่ 1 ภายใน 20 เดือน และย่นระยะเวลาจนเหลือ 3.25 เดือน สำหรับโรคไวรัสอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี นักวิจัยหวังว่าพวกเขาจะสามารถรับมือกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้เร็วยิ่งขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) หรือ เมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ (messenger RNA)
แอนจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติงเอนไซม์ 2 (ACE2) เป็นตัวรับเด่นสำหรับไกลโคโปรตีนที่มีโรคซาร์สในมนุษย์ การวิเคราะห์เบื้องต้นบ่งชี้ว่าไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกรดอะมิโนในไวรัสซาร์ส และอาจใช้แอนจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติงเอนไซม์ 2 เป็นตัวรับ
นักวิจัยเผยว่า สิ่งนี้อาจมีนัยสำคัญต่อการคาดการณ์การแพร่ระบาดของโรคในอนาคต ซึ่งก่อนหน้านี้ การแพร่ระบาดของโรคในมนุษย์ ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องที่จะส่งผลร้ายแรง สำหรับโรคติดเชื้อเกิดใหม่ และไม่ได้เป็นวาระสำคัญที่ต้องเตรียมการพร้อมรับมืออย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ดี นักวิจัยหวังว่าพวกเขาจะสามารถรับมือกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้เร็วยิ่งขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) หรือ เมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ (messenger RNA)
แอนจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติงเอนไซม์ 2 (ACE2) เป็นตัวรับเด่นสำหรับไกลโคโปรตีนที่มีโรคซาร์สในมนุษย์ การวิเคราะห์เบื้องต้นบ่งชี้ว่าไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกรดอะมิโนในไวรัสซาร์ส และอาจใช้แอนจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติงเอนไซม์ 2 เป็นตัวรับ
นักวิจัยเผยว่า สิ่งนี้อาจมีนัยสำคัญต่อการคาดการณ์การแพร่ระบาดของโรคในอนาคต ซึ่งก่อนหน้านี้ การแพร่ระบาดของโรคในมนุษย์ ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องที่จะส่งผลร้ายแรง สำหรับโรคติดเชื้อเกิดใหม่ และไม่ได้เป็นวาระสำคัญที่ต้องเตรียมการพร้อมรับมืออย่างสม่ำเสมอ
- “ฮ่องกง-ออสเตรเลีย” เร่งหาทางแก้
ส่วนในฮ่องกงที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสจากอู่ฮั่นอย่างน้อย 8 คนแล้ว หยวน กว๊อก-ยุง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อกล่าวว่า คณะนักวิจัยในฮ่องกงได้พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่แล้ว แต่ยังต้องใช้เวลาทดสอบเพื่อยืนยันว่าวัคซีนใช้ได้ผลหรือไม่
"เราได้ผลิตวัคซีนไว้แล้ว แต่ยังต้องใช้เวลาอีกนานเพื่อทดสอบกับสัตว์ก่อน" หยวนเผย โดยไม่ได้ระบุกรอบเวลาชัดเจนว่าจะพร้อมใช้กับผู้ป่วยเมื่อใด แต่เขาเสริมว่า อาจจะใช้เวลาอีกหลายเดือนเพื่อทดสอบวัคซีนนี้กับสัตว์และใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกกับมนุษย์ก่อนจะนำไปใช้จริง
ส่วนในออสเตรเลียซึ่งพบผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวอย่างน้อย 5 คน แม้ยังไม่มีการพัฒนาวัคซีนอย่างจริงจัง แต่นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันปีเตอร์ โดเฮอร์ตี ในเมืองเมลเบิร์น ประสบความสำเร็จในการเพาะเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จากตัวอย่างที่ได้จากผู้ป่วยเป็นครั้งแรก ซึ่งจะช่วยเปิดทางให้ผู้เชี่ยวชาญประจำห้องแล็บของนานาประเทศมีข้อมูลที่สำคัญในการรับมือกับไวรัสชนิดนี้
จูเลียน ดรูซ แพทย์จากโรงพยาบาลรอยัล เมลเบิร์น กล่าวว่า การที่มีเชื้อไวรัสจริงจะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถกำจัดและรับรองวิธีการทดสอบทั้งหมด รวมทั้งเปรียบเทียบความอ่อนไหวและลักษณะเฉพาะต่าง ๆ
ทั้งนี้ จะมีการนำไวรัสที่ได้ไปใช้ที่ห้องแล็บด้านสาธารณสุขของออสเตรเลีย เพื่อการควบคุม และส่งให้กับผู้เชี่ยวชาญประจำห้องแล็บที่ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกในยุโรปต่อไป
- บริษัทยาเอกชนร่วมใจ
ส่วน “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมยา เครื่องมือแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เตรียมผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรน่า แต่อาจใช้เวลาเป็นปีกว่าจะนำออกจำหน่ายได้
พอล สตอฟเฟิลส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (เจแอนด์เจ) กล่าวว่า เขาเชื่อว่าบริษัทจะสามารถผลิตวัคซีนในช่วงหลายเดือนข้างหน้าสำหรับป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ แต่บริษัทอาจต้องใช้เวลาถึง 1 ปีก่อนที่จะสามารถนำวัคซีนดังกล่าวออกสู่ตลาดได้
“เรามีนักวิทยาศาสตร์หลายสิบคนที่กำลังทำงานในโครงการดังกล่าว ดังนั้นเราเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถผลิตวัคซีนที่ป้องกันไวรัสนี้ได้ และมีประสิทธิภาพในระยะยาว” สตอฟเฟิลส์กล่าว
ขณะที่องค์กรแนวร่วมเพื่อนวัตกรรมการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด หรือ “ซีอีพีไอ” (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) เผยว่า เตรียมทำการทดสอบทางคลินิกสำหรับวัคซีนต่อสู้กับไวรัสมรณะที่กำลังระบาดในจีนช่วงฤดูร้อนปีนี้
“เราสามารถประกาศได้ว่า เรามีพันธมิตร 3 รายในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่” ริชาร์ด แฮตเชตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซีอีพีไอกล่าวในงานประชุมเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์เมื่อเร็ว ๆ นี้ “เป้าหมายของเราคือการมีวัคซีนที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และเร่งทดสอบทางคลินิกโดยด่วน อาจจะเร็วสุดช่วงต้นฤดูร้อนนี้”
แฮตเชตต์ เผยว่า พันธมิตร 3 ราย ประกอบด้วยบริษัทอิโนวิโอ ฟาร์มาซูติคอลส์ของสหรัฐ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย และบริษัทโมเดอร์นาซึ่งกำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขของสหรัฐอยู่ในขณะนี้
สเตฟาน แบนเซล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโมเดอร์นา เผยกับเอเอฟพีว่า บริษัทของเขามีแผนที่จะพัฒนาวัคซีนที่โรงงานในเมืองบอสตัน โดยได้รับเงินสนับสนุนจากซีอีพีไอ
ขณะเดียวกัน แบนเซลยังวางแผนที่จะทดสอบทางคลินิกภายในฤดูร้อนนี้ และว่า ปกติแล้ว กระบวนการพัฒนาวัคซีนทั่วไปจะใช้เวลา 2-3 ปี