โจทย์ใหม่ของเมือง สำหรับระบบ 'เศรษฐกิจกิ๊ก'
เศรษฐกิจกิ๊ก โมเดลใหม่ที่เข้ามาพลิกโฉมการทำงานจากเดิม เปลี่ยนไปสู่งานที่เป็นนอกระบบ รวมถึงฟรีแลนซ์ และการทำงานเสริมต่างๆ ซึ่งขยายวงกว้างมากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของเมืองที่จะต้องรับมือ
เศรษฐกิจดิจิทัลได้พลิกโฉมการใช้ชีวิตในเมือง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน การเดินทางโดยพึ่งพามอเตอร์ไซค์ รวมถึงอนาคตเด็กรุ่นใหม่ที่จะเติบโตในคอนโดมิเนียมไปแล้ว สำหรับบทความนี้จะนำเสนอภาพอนาคตของการทำงานภาคบริการในเมือง โครงการคนเมือง 4.0 ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ทบทวนวิวัฒนาการ แนวโน้ม และปัจจัยขับเคลื่อน ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ 5 ประเด็น ดังนี้
เศรษฐกิจแพลตฟอร์มพลิกโฉมงานนอกระบบ (Platform economy) วิธีการทำงานในรูปแบบการทำงานเป็นครั้งๆ หรือเป็นรายโครงการ ซึ่งมักเรียกว่าเป็นการ “รับจ๊อบ” มีปรากฏทั่วไปอยู่แล้วในกลุ่มแรงงานบริการในประเทศไทย เช่น การเป็นหมอนวดผลัด กับการรับงานทำความสะอาด การเป็นวินมอเตอร์ไซค์ผลัดกับการรับซ่อมไฟฟ้า รวมไปถึงการรับงานออกแบบฟรีแลนซ์ การรับสอนพิเศษ หรือการรับแปลเอกสาร กลุ่มแรงงานภาคบริการ ทั้งส่วนที่เป็นบริการขั้นพื้นฐานและบริการขั้นที่ต้องการทักษะเฉพาะเหล่านี้ มักจัดหมวดหมู่อยู่ในแรงงานนอกระบบหรือแรงงานอิสระ ซึ่งในอดีตมักถูกมองว่าเป็นพื้นที่สีเทา
ในช่วงหลัง การทำงานเป็นครั้งคราวเริ่มมีธุรกิจแพลตฟอร์มมาเป็นตัวกลางในการว่าจ้างมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจแรงงานแบบครั้งๆ นี้ได้รับการขนานนามใหม่ว่า “เศรษฐกิจกิ๊ก” ธุรกิจแพลตฟอร์มย้ายการพบปะของผู้ให้และผู้ใช้บริการมาอยู่บนโลกออนไลน์แทนพื้นที่ทางกายภาพ ทั้งยังมีการใช้อัลกอริทึมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการหาผู้ให้และผู้ใช้บริการ ส่งผลให้แรงงานในเศรษฐกิจกิ๊กมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ การมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบริการ ยังทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมของการทำงานเป็นครั้งคราว กลายเป็นเรื่องทันสมัย ได้รับการยอมรับและแพร่หลาย และมีแนวโน้มที่จะเป็นหนึ่งในกลุ่มแรงงานที่สำคัญในอนาคต
งานในเศรษฐกิจกิ๊ก เปิดโอกาสให้สังคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น การลาออกจากงานในระบบและย้ายเข้าสู่การทำงานในเศรษฐกิจกิ๊ก อาจมีเหตุผลมาจากทั้งความจำเป็นหรือความต้องการของความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาและรายได้ ทั้งนี้ มีนัยว่าชีวิตจะมี “ความเป็นอิสระ” มากขึ้น และเมื่อรายได้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ “ความขยัน” หรือชั่วโมงการทำงาน คือทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย การหยุดพักหรือการปฏิเสธงานมีค่าเสียโอกาสซ่อนเร้นอยู่ ดังนั้นแรงงานในระบบเศรษฐกิจกิ๊กจะมีแรงจูงใจที่จะขยันขึ้น และเกิดรายได้ที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับการทำงานระบบเดิม
ถึงแม้เศรษฐกิจกิ๊กหรืองานนอกระบบจะเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่กว้างขวาง และเป็นบริการที่มีอุปทานสูงในภาคมหานคร แต่ในปัจจุบันภาครัฐยังไม่ได้สนับสนุน คุ้มครอง หรือสร้างหลักประกันให้กลุ่มแรงงานเหล่านี้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียมคนที่ทำงานในระบบได้ การเติมเต็มช่องว่างทางนโยบายดังกล่าวก็จะช่วยให้เศรษฐกิจกิ๊กกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยทำให้สังคมยืดหยุ่นและเท่าเทียมกันมากขึ้นได้อย่างแท้จริง
แรงงานกิ๊ก ชีวิตพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ขณะที่คนในเศรษฐกิจกิ๊กดูเหมือนจะมีหลักประกันเดียวในชีวิต คือ เงินออมจากรายได้ที่ต้องตักตวงไว้ให้มากพอเผื่อไว้ใช้ในยามจำเป็น อีกหลักประกันหนึ่งที่ทำให้งานในเศรษฐกิจกิ๊กมีศักยภาพที่จะเป็นรูปแบบงานที่มั่นคงในอนาคต คือ ความคล่องตัวในการรับงานที่หลากหลาย สำหรับงานในอนาคต ความมั่นคงของงานคงจะไม่ได้อยู่คู่กับรูปแบบของงานที่มั่นคงในลักษณะเดิม เช่น งานราชการหรืองานในบริษัทใหญ่ อีกต่อไป แต่ความมั่นคงของรายได้จะย้ายเข้าสู่การมีทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดในขณะนั้น และความพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยครั้งในอนาคต คนทำงานกิ๊กโดยทั่วไปจึงต้องมีทักษะและความรู้เฉพาะทางที่หลากหลาย ทั้งยังต้องกระจายแหล่งรายได้ของตนจากหลายที่ ทำให้แรงงานประเภทนี้มีความยืดหยุ่น (Resilience) ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง และเทคโนโลยีมากกว่างานในระบบด้วยซ้ำไป
เมืองในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจกิ๊ก แนวความคิดการวางแผนเมืองเดิมตั้งอยู่บนพื้นฐานของการอยู่ในระบบของงานและกิจกรรมที่เป็นหลักแหล่ง เพราะพฤติกรรมคนทำงานในเศรษฐกิจกิ๊กมักไร้แบบแผน ทั้งในการเดินทาง การใช้สถานที่ การใช้เวลา และการใช้พื้นที่เมือง พฤติกรรมดังกล่าวแตกต่างจากลักษณะของแรงงานเมืองในอดีต ซึ่งมีแบบแผนชัดเจนและตั้งอยู่เป็นหลักแหล่ง แต่หากการทำงานไร้ซึ่งที่ทางและกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน พื้นฐานความคิดในการวางแผนและออกแบบทางกายภาพก็ต้องเปลี่ยนไป เพื่อตอบรับต่อความต้องการที่หลากหลายและไม่หยุดนิ่งของคนเมืองในอนาคต นอกจากนี้ พลวัตของความไม่แน่นอนในการใช้เมืองแบบใหม่ยังอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังการลดหรือเพิ่มความสำคัญของย่านธุรกิจบางประเภท การเปลี่ยนรูปแบบการกระจุกตัวของย่านเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนไปของความต้องการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ต้องหันมาสนับสนุนการเชื่อมต่อแบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น
พื้นที่สาธารณะเมืองในฐานะที่ทำงาน พื้นที่สาธารณะเมืองที่ผ่านมาไม่เคยถูกมองเป็นพื้นที่ทำงาน ทั้งที่งานหลากหลายแบบใช้พื้นที่สาธารณะเมืองในการหารายได้ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ บริการเช็ดรองเท้า บริการนวด หรือกระทั่งบริการดูดวง เป็นต้น แต่เมื่อเศรษฐกิจกิ๊กเติบโตขึ้นพร้อมกับความยืดหยุ่นในการใช้เมือง แรงงานในเศรษฐกิจกิ๊กจะกลายเป็นกลุ่มอุปสงค์หลักที่เรียกร้องให้พื้นที่สาธารณะเมืองมีมากขึ้นเพื่อใช้ทำงาน โดยไม่ไปเบียดเบียนสิทธิของผู้อื่น ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า เมื่อพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะมีความพร้อมต่อการนั่งทำงาน เช่น ห้องสมุดที่ติดเครื่องปรับอากาศและมีอินเทอร์เน็ต ร้านกาแฟ หรือพื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co-working space) พื้นที่เหล่านี้ก็เริ่มมีบทบาทเข้ามาเป็นส่วนสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้มากขึ้น การนิยามและการให้ความสำคัญต่อพื้นที่สาธารณะจึงจะมีมากกว่าการเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่กลายเป็นเรื่องสำคัญต่อเศรษฐกิจและการทำงานของคนเมืองขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่สาธารณะเมืองเพื่อตอบรับความต้องการของกลุ่มแรงงานในเศรษฐกิจกิ๊กที่มีลักษณะงาน ความต้องการเชิงพื้นที่ และข้อจำกัดที่หลากหลาย จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองตอบโจทย์กับงานในอนาคตต่อไป