6 ประเทศอาเซียนออกแบบติดตาม NCDs
NCDs หรือ Non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นั่นคือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรอนามัยโลก พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายในประเทศไทยและอาเซียน ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ได้บันทึกความเข้าใจในปีพ.ศ. 2558 ร่วมมือกันพัฒนาโครงการสร้างเสริมสุขภาพใน 6 ด้านเพื่อจัดการปัญหา NCDs
ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ พัฒนานโยบายควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ส่งเสริมกิจกรรมทางกายส่งเสริมสุขภาวะในโรงเรียน พัฒนาระบบการบริโภคเกลือ พัฒนาระบบเฝ้าระวังการป้องกันและการควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและสาธารณสุขมูลฐานเพื่อการประกันสุขภาพถ้วนหน้า
โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังเพื่อการต้องการและควบคุมโรคไม่ติดต่อและสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มประเทศอาเซียนได้แก่ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ครอบคลุมและมีมาตรฐานเทียบเคียงกันได้ในภูมิภาคอาเซียนผ่านการพัฒนาแต่ละภาค นักวิชาการด้านระบบเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข
ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่าจากข้อมูลเมื่อปี2559 พบว่า โรคNCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 74 ของสาเหตุการตายทั้งหมด อีกทั้งโรคNCDsเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโลกโดยเฉพาะ 4 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคปอดเรื้อรัง พบว่ากว่าร้อยละ 85 ของกลุ่มที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางซึ่งรวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียน 6 ประเทศได้แก่กัมพูชาลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ไทยและเวียดนาม
ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการรวมกลุ่มออกแบบระบบกำกับติดตามกลุ่มโรคดังกล่าวให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกัน เพื่อประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายระดับชาติ กำหนดวิธีป้องกันดูแลสุขภาพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาและประเทศในอาเซียนใช้เครื่องมือ WHO-STEPs เก็บข้อมูลสถานการณ์โรค NCDs แต่สำหรับไทยมีความรุดหน้า ไปมาก เพราะได้ทำการสำรวจสุขภาพประชาชน ทั้งยังจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อติดอาวุธให้คนไทยรู้จักดูแลตัวเองลดการป่วยโรคNCDs ทำให้คนไทยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น
“ถือเป็นครั้งแรกของ6ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ได้ร่วมกันออกแบบระบบกำกับติดตามที่มาจากความคิดเห็นของกลุ่มนักวิชาการในภาคส่วนต่างๆ ซึ่ง สสส.มีบทบาทในการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบร่วมกันอันนำไปสู่การวางระบบ แลกเปลี่ยนและช่วยกันดูแลผู้ป่วย ลดอัตราผู้ป่วยโรคNCDsในแต่ละประเทศ เนื่องจากโรคดังกล่าว แม้ไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน แต่เป็นโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก”ณัฐพันธุ์ กล่าว
พฤติกรรม 5 ด้าน ได้แก่ การกิน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด และการไม่ออกกำลังกาย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีผู้ป่วยโรคNCDs จำนวนมาก ดังนั้น นอกจากการวางระบบดังกล่าวที่แต่ละประเทศร่วมมือกัน นำไปสู่การสร้างมาตรฐานเดียว และขยายต่อไปในเชิงนโยบายแล้ว ทุกคนต้องดูแลตัวเอง และลดพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ด้วย
ทุกประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนต่างมีมาตรการในการควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง วาระที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ นพ.วิศัลย์ มูลศาสตร์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำรุงนราดูร กล่าวว่าการเฝ้าระวัง และมาตรการควบคุมโรคNCDs นั้น จะดำเนินการตามบริบทของแต่ละประเทศเป็นหลัก เพราะโรคดังกล่าวขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกิน การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพของคนละประเทศ
ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการหามาตรการ เฝ้าระวัง ติดตามร่วมกัน โดยแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และนำไปสู่แนวทางในการปฎิบัติที่แต่ละประเทศจะนำไปใช้บูรณาการในประเทศของตนเอง และคำนึงถึงประเทศเพื่อนบ้าน เพราะด้วยเทคโนโลยี การเคลื่อนย้ายประชากรในกลุ่มประเทศดังกล่างมีมากขึ้น หากมีมาตรการ การเฝ้าระวัง ติดตามในองค์รวม และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหากลุ่มโรคNCDs ได้
“สถานการณ์กลุ่มโรค NCDs ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เพราะปัจจัยการเกิดโรคมีหลายมิติ โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกิน การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การกินเกลือมากไปการออกกำลังกาย ล้วนเป็นผลให้เกิดโรคดังกล่าวได้ทั้งสิ้น รวมถึงยังทำให้การออกแบบชุดข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์มีความยากซับซ้อน เป็นเหตุให้แต่ละประเทศมีตัวชี้วัดแตกต่างกันและร่วมและถูกรวบรวมวิเคราะห์อย่างไม่ต่อเนื่อง ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่เพียงกระทบต่อระบบการติดตามปรวัติอนัตตาโรคและปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อในประเทศแต่ยังกระทบต่อการเปรียบเทียบสถานการณ์ระหว่างประเทศด้วย ฉะนั้น การประชุมดังกล่าว จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการสร้างตัวชี้วัด การเฝ้าระวังติดตามในกลุ่มโรค NCDsร่วมกัน เป็นรูปธรรม และมีเป้าหมายที่ชัดเจน” นพ.วิศัลย์ กล่าว
สุภา เพ่งพิศ นักวิชาการจากสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพร้อมและมีมาตรการเฝ้าระวัง ติดตาม กำกับดูแลกลุ่มโรคNCDs มาตลอดและมีความรุดหน้ามากกว่าในหลายประเทศ เนื่องจากมีการดำเนินการในระดับนโยบาย แต่ยอมรับว่าโรคดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของคนไทย เพราะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทย อีกทั้ง ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ดังนั้น จำนวนผู้ป่วยโรคนี้มีมากขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันด้วยการเปิดกว้างแต่ละประเทศ มีการเคลื่อนย้ายของผู้คน การขนส่งสินค้าต่างๆ ทำให้มีผู้ป่วยโรคกลุ่มNCDs มากขึ้น ดังนั้น เมื่อทั้ง6 ประเทศอาเซียนร่วมกันออกแบบระบบติดตาม กำกับดูแลผู้คนในโรคดังกล่าวย่อมเป็นมาตรการเทียบเคียงกัน และเกิดความร่วมมือกันเป็นระบบเครือข่าย ทำงานร่วมกัน ที่สำคัญยังนำเสนอในเชิงนโยบายที่แต่ละประเทศได้นำไปใช้ และเกิดมาตรฐานที่เป็นสากลได้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการหารือร่วมกันในครั้งนี้ และครั้งต่อๆไป จะได้แนวทาง และมาตรฐาช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคNCDs ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต