ประมงเตรียมปิดอ่าวให้ปลาผสมพันธุ์เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำอีก 30%
กรมประมงเตรียมประกาศปิดอ่าวไทยช่วง จ.ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี 90 วัน หวังเพิ่มประชากรปลาทู - สัตว์น้ำเศรษฐกิจ
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมประมงเตรียมประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทยตอนกลาง หรือ ปิดอ่าวไทย คือ แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ประจำปี 2563 ในเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค. 2563 ต่อด้วยเขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเลและพื้นที่อ่าวประจวบฯ อีก 30 วัน
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงกำหนดให้หลังเปิดอ่าวตอนกลางแล้ว ให้ปิดอ่าวต่อที่เขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเล และพื้นที่อ่าวประจวบฯ อีก 30 วัน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ฯ สอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจากการสุ่มเก็บตัวอย่างประชากรปลาทูช่วงมาตรการปิดอ่าวไทยปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าจำนวน สัตว์น้ำและปลาทูมีมากขึ้น
สำหรับช่วงการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าว 15 ก.พ.-15 พ.ค. ระยะเวลา 90 วัน ประจวบฯ ชุมพร สุราษฎร์ฯ เป็นช่วงที่ พ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศ ผสมพันธุ์ และมีการแพร่กระจายของลูกปลาทู-ปลาลัง และปลาเศรษฐกิจขนาดเล็ก ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศใช้มาตรการฯ, ช่วงต่อเนื่องระยะ 7 ไมล์ทะเล 16 พ.ค.-14 มิ.ย. ระยะเวลา 30 วัน ในอ่าวตอนกลาง เป็นช่วงที่ลูกปลาวัยอ่อนที่เกิดบริเวณพื้นที่มาตรการมีโอกาสเลี้ยงตัวบริเวณชายฝั่ง
ช่วงพื้นที่อ่าวประจวบฯ จากเขาตาม่องไล่ ถึง อ.หัวหิน 16 พ.ค.-14 มิ.ย. ระยะเวลา 30 วัน เป็นช่วงที่ ลูกปลาขนาดเล็กเดินทางเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยรูปตัว ก และเมื่อถึงวันที่ 15 มิ.ย.-30 ก.ย. กรมประมงก็จะมีการประกาศปิดอ่าวตัว ก เพื่อรักษาปลาทูสาวให้เจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ และพร้อมเดินทางลงไปผสมพันธุ์วางไข่ในช่วง ก.พ. หรือเรียกว่า ช่วงปิดอ่าวไทย
จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวนี้สามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้คืนกลับมาได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้ในการประกอบอาชีพได้อย่างดี และ ประชาชนคนไทยได้มีสัตว์น้ำบริโภคตลอดไป อีกทั้ง กรมประมงยังมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวไทยฯ ในแต่ละห้วงเวลานั้นช่วยทำให้เกิดกระบวนการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชาวประมงเกิดความตระหนักในการทำประมงได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่า