'อาชีวะ' เตรียมคนรองรับศตวรรษที่ 21
การเตรียมพร้อมกำลังคนรองรับศตวรรษที่ 21 เป็นนโยบายที่รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้กำหนดไว้เป็นแผนในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ
โดยเฉพาะในส่วนของสอศ.ได้มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปริมาณ และคุณภาพ พัฒนากำลังคนที่มีทักษะขั้นสูง ให้สามารถนำความรู้และทักษะมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สอศ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 3 สถาบันด้านเทคโนโลยี ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับศตวรรษที่ 21
พีระพล พูลทวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ. และกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกันจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น เชิงเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
“ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานที่มุ่งรูปแบบการเรียนการสอนบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผสมผสานกับการสร้างทักษะทางวิชาชีพ อาทิ การสอนแบบ Project based Learning, Active Learning และ STEM Education รวมถึงร่วมกันพัฒนาหลักสูตร การถ่ายทอดความรู้ การให้คำปรึกษาในการพัฒนานวัตกรรม และการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเตรียมกำลังคนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พัฒนาประเทศให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถแข่งขันกับนานา ประเทศได้ และนำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน”พีระพล กล่าว
สถานศึกษาสังกัดสอศ.ที่ดำเนินโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน วิทยาลัยเทคนิคพังงา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี
คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่าความร่วมมือดังกล่าว เป็นภารกิจในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์สถาบันให้เป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน นักศึกษาและการศึกษาไทย เพื่อตอบสนองแผนพัฒนาการศึกษาของศธ.ด้านการผลิต พัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา
แผนการศึกษาแห่งชาติ ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งในการสร้างเยาวชนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้นในการดำรงชีวิต
วิมลณัฐ สุขพล อดีตศิษย์เก่าสาขาพาณิชยกรรมและบริการฐานวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคพังงา รุ่นที่ 2 กล่าวว่าได้สมัครเข้าร่วมโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นคนที่สนใจและชื่นชอบการเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อผ่านการคัดเลือกได้เข้ามาเรียนทำให้เห็นภาพของการนำองค์ความรู้ด้านทฤษฎีของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในทางปฎิบัติ
เนื่องจากการเรียนการสอนฐานวิทยาศาสตร์ เนื้อหาหลักสูตรจะเป็นการเรียนวิทยาศาสตร์กับธุรกิจการท่องเที่ยว โดยเรียนแบบ Project-based Learning หรือการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ซึ่งจะต้องทำโครงงานทุกภาคเรียน และต้องเป็นโครงงานที่ตอบโจทย์ปัญหาสังคม เรื่องที่นักเรียนสนใจและมีความถนัด แก้ปัญหาได้จริง
“การเรียนโดยใช้ฐานวิทยาศาสตร์ ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะศตวรรษที่ 21 อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง คิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การทำงานเป็นแต่ต้องตอบโจทย์ปัญหาในชีวิตจริง ฝึกการทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงสามารถสื่อสารได้ด้วยภาษาอังกฤษ ทำให้มีโอกาสมากขึ้น และพร้อมในการทำงานในชีวิตจริง ดังนั้น การเรียนการสอนในรูปแบบฐานวิทยาศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งการเรียนที่จะทำให้เด็กอาชีวศึกษา นอกจากจะมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แน่นเหมือนเด็กม.ปลายแล้ว ยังทำให้มีทักษะการปฎิบัติงานจริง รู้จักนำองค์ความรู้จากทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงๆ ที่สำคัญ ทำให้มีทักษะที่หลากหลาย ตอบโจทย์ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และการทำงานในโลกเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี” วิมลณัฐ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ สอศ. ได้รับความร่วมมือจาก 12 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการพัฒนาการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ