กราดยิง 30 ศพ บทเรียนทุกคน

กราดยิง 30 ศพ บทเรียนทุกคน

เหตุการณ์ผู้ก่อเหตุยิงผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตรวมกันถึง 30 ราย ถือเป็นบทเรียนของทุกภาคส่วน ไม่ควรตราหน้าหรือโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะถือเป็นบทเรียนของแต่ละส่วน ว่าจะปรับปรุง ทบทวนตัวเองอย่างไร เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมาอีก

เหตุการณ์ผู้ก่อเหตุยิงผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตรวมกันถึง 29 ราย หากรวมตัวจ่าที่ถูกวิสามัญด้วยก็นับเป็น 30 ศพ เมื่อวันที่ 8-9 ก.พ.2563 ที่จังหวัดนครราชสีมา ถือว่าเป็นบทเรียนของทุกภาคส่วน เหตุการณ์ที่เราไม่ควรตราหน้าหรือโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะสาระที่มีคุณค่านับจากนี้ คือการถอดบทเรียนของแต่ละส่วน แต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องว่าจะปรับปรุง ทบทวนตัวเองอย่างไรเมื่อเกิดภาวะวิกฤติเช่นนั้นขึ้นมาอีก

ภาวะวิกฤติ ที่หมายถึง รูปแบบการจลาจล ก่อการร้าย จับตัวประกัน รวมถึงภาวะวิกฤติต่างๆที่เกิดจากภัยธรรมชาติ โรคร้ายต่างๆ วิกฤติจากความขัดแย้งของคนในชาติ สงคราม เป็นต้น เพราะต้องยอมรับความจริงย่างหนึ่งว่าเหตุการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ก็จะกลับมาเกิดขึ้นได้อีก หลายเหตุการณ์เป็นภัยธรรมชาติที่ยากแก่การคาดการณ์เราสามารถรับมือ ป้องกัน หรือวางกรอบกติกา ปฏิบัติร่วมกันล่วงหน้าได้ว่าหากเกิดกรณีแบบไหนแต่ละส่วนควรปฏิบัติตัวกันอย่างไร

เหตุการณ์ครั้งนี้ ดูเหมือนกองทัพบก กับองค์กรสื่อ จะเป็นอีกบทเรียนที่ถูกสังคมตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ กองทัพกับมาตรการป้องกันอาวุธสงคราม การเก็บรักษาที่ปล่อยให้ผู้ก่อเหตุปล้นเอามาปฏิบัติการ  รวมถึงมูลเหตุของปัญหาที่เริ่มต้นจากทหารชั้นผู้น้อย ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา จากกรณีการทำธุรกิจบ้านจัดสรร หรือคำถามที่ทำไมทหาร ไม่ยืนแถวหน้าในการคลี่คลายสถานการณ์ และปล่อยให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ

ซึ่งหลายปมปัญหาคำถาม พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้อธิบายไปพอสมควรแล้ว แต่เชื่อว่าอีกหลายปมคำถาม ที่กองทัพต้องกลับมาทบทวน เพื่อให้ทหาร ไม่ก่อปัญหาแบบนี้ขึ้นมาอีก เหตุเพราะมีความเชี่ยวชาญอาวุธ หากเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ย่อมสูญเสียใหญ่หลวง สาระสำคัญที่ต้องพิจารณาตั้งแต่พื้นฐาน ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ที่ไม่ให้ผู้บังคับบัญชาเอาเปรียบลูกน้อง

เหตุการณ์ครั้งนี้ องค์กรสื่อหลัก กลับมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง ว่าทำหน้าที่เกิดรายงานข้อเท็จจริง ขยายความรุนแรง สื่อสารสุ่มเสี่ยงเกิดการเลียนแบบ รายงานแผนของเจ้าหน้าที่เกิดไป นำมาซึ่ง กสทช.ต้องเชิญผู้บริหารทีวี หารือ เมื่อวานที่ผ่านมา จริงอยู่มีหลายจังหวะหลายช่องที่ดูจะเข้าข่ายที่ถูกกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่สมาคมองค์กรสื่อกลับไปถอดบทเรียน ทบทวนตัวเอง และสรุปให้สาธารณะรับทราบว่าดำเนินการอะไรไปบ้าง

ส่วน กสทช.ในฐานะกำกับดูแลทีวีตามกฎหมาย ย่อมตักเตือนลงโทษได้หากเห็นว่าทำเกิดขอบเขตกฎหมายกำหนด แต่ถึงกระนั้นหลายๆ เรื่องเกี่ยวข้องกับจริยธรรม จรรยาบรรณที่องค์กรวิชาชีพ ควรวางกติกาตัวเองจะดีกว่า ให้ กสทช.เข้ามาสั่ง เพราะหากรัฐเข้ามายุ่งเกินกรอบแล้ว การรายงานข่าวจะสุ่มเสี่ยงบิดเบือน จากหน้าที่ที่ควรจะเป็น เพราะเราเชื่อว่าทุกช่อง ทุกสื่อล้วนมีความตั้งใจทำออกให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันสื่อที่ไม่ใช่กระแสหลักต่างหาก ที่น่าวิตกมากขึ้น ไม่มีองค์กรวิชาชีพกำกับ เน้นรวดเร็ว บิดเบือน จุดนี้มากกว่าที่ภาครัฐต้องตระหนัก

อ่านข่าว
ผบ.ทบ.แถลงสื่อ ลำดับเหตุทหารบุกค่าย ชิงปืนกราดยิงโคราช 30 ศพ