เพิ่มโทษหนักเอาผิด เกรียนโซเชียลฯ หลังเหตุกราดยิงโคราช
"ดีอีเอส" สั่งรวบรวมกม. ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารทางดิจิทัล เล็งเพิ่มโทษหนักเอาผิดเกรียน บน "โซเชียลฯ" หลังเหตุกราดยิงโคราช
เมื่อวันที่ 11 ก.พ.63 เวลา 08.35 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุรุนแรงที่ จ.นครราชสีมา ที่มีทั้งข่าวจริงและข่าวไม่จริงออกมากระทรวงดูแลอย่างไรบ้าง ว่า กระทรวงดูแลอย่างเต็มที่ที่ผ่านมา เราเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีหลายมุมมองจากประชาชน เชื่อว่าโดยส่วนใหญ่ใช้โซเชียลมีเดียในการติดตามข่าวสาร แต่ในอีกมุมหนึ่งมีคนบางกลุ่มมีการใช้ช่องทางดังกล่าวสร้างตัวตนให้มีคนติดตามด้วยการใช้วิธีคิดที่ผิด จะเห็นว่าหลังเกิดเหตุก็มีหลายรายที่พยายามสร้างการลอกเลียนแบบใช้สถานการณ์ที่โคราช หลังจากที่เราได้ข้อมูลจากประชาชนก็ดำเนินการติดตามจับกุมได้ 4-5 ราย เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา
เมื่อถามว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาเกิดปัญหาการนำเสนอข่าวเกิดขึ้นจะมีการเรียกสื่อหลักทุกสื่อเข้าไปทำพูดคุยทำความเข้าใจหรือไม่ ?
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทราบว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีอำนาจเต็ม โดยเฉพาะสื่อที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ตนเห็นว่าในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้กสทช.จะประชุม มีวาระที่จะเชิญสื่อเข้าร่วมพูดคุยวางกฎเกณฑ์ ระเบียบ แนวคิดและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องรอดูกสทช.จะดำเนินการอย่างไร เพราะกสทช.มีอำนาจเต็มตามกฎหมายในการตักเตือน และดำเนินการลงโทษ
เมื่อถามต่อว่ากรณีการโพสต์ข้อความเลียนแบบเหตุการณ์ที่โคราชเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้เข้มงวดไม่ให้มีการกระทำแบบเช่นนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ ?
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมอบหมายให้รองปลัดกระทรวง รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการใช้และบังคับใช้กฎหมายในเชิงการสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 และกฎหมายอื่นๆที่ต้องปรับปรุง รวมถึงบทลงโทษที่ต้องปรับปรุงเน้นบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น
เนื่องจากรูปแบบการลงโทษและเกณฑ์จะต้องขยายให้มากขึ้น เรื่องจากในปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียขยายและพัฒนาไปมากขึ้น ภาครัฐยังไปไม่ถึงไม่ทัน รวมถึงกฎหมายที่เรามีอยู่ไม่สามารถตรวจจับได้ เพราะอำนาจของกระทรวง หรือหน่วยงานหลายหน่วยงานไปไม่ถึง ไม่มีอำนาจสืบสวน ตรวจสอบในสถานการณ์จริง หลายเรื่องจึงต้องปรับแก้ไขให้กฎหมาย โดยตนได้สั่งการไปแล้วเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมาขณะนี้กำลังศึกษาอย่างเร็วที่สุด