14 วันอันทรมาน เมื่อถูกกักบน 'เรือสำราญ' จากพิษ 'COVID-19'
เปิดเรื่องราวบนเรือสำราญสุดหรู กลับกลายเป็นความหดหู่ ที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องจ่ายเงินแสนแพงเพื่อมาอยู่แต่ภายในห้องพัก ลุ้นกับเชื้อไวรัส และทำได้เพียงรออาหารจากเจ้าหน้าที่ โดยมีเพียงหน้าจอมือถือเป็นเพื่อน
[Exclusive] นับเป็นเวลา 8 วันแล้ว ที่นักท่องเที่ยว 2,666 ชีวิต ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่อีกพันเศษ ต้องกินอยู่หลับนอนในห้องพักแคบๆ บน "เรือสำราญ" สุดหรู “ไดมอนด์ พรินเซส” ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา
หลังจากเรือลำดังกล่าวซึ่งออกจากท่าฮ่องกงเมื่อ 25 ม.ค. และมาเทียบท่าที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะทราบว่า มีผู้ติดเชื้อ "ไวรัสโคโรน่า" ร่วมเดินทางมาบนเรือลำนี้ด้วยและถูกตรวจพบโรคที่ฮ่องกง
นี่คือจุดเริ่มต้นของ "จุดจบแห่งความสำราญ" ที่ทำให้เรือสำราญไดมอนด์ พรินเซส ถูกสั่ง "กัก" ณ ท่าเรือโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น
..จะไปต่อก็ไม่ได้ จะขึ้นฝั่งก็ไม่ได้เช่นกัน
ตลอดระยะเวลา 8 วันที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวและลูกเรือทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือเพียงการส่งเจ้าหน้าที่กักกันโรคขึ้นไปตรวจและวัดอุณหภูมิร่างกายทุกวัน เพื่อตรวจสอบและอัพเดทการติดเชื้อ
แน่นอนว่า ไม่มีใครคิดมาก่อนว่า พวกเขาจะต้องจ่ายเงินแพงๆ เพื่อแลกกับ "ทริปลืมไม่ลง" เช่นนี้
ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการเดินทาง การบริการในเรือเป็นไปอย่างหรูหรา ภายในเรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย พร้อมให้บริการมื้ออาหารสุดเอ็กซ์คลูซีฟแก่ผู้โดยสาร แต่นับจากวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เรือลำดังกล่าวถูกรัฐบาลญี่ปุ่นใช้มาตรการกักกันโรค และตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Covid-19)
ประสบการณ์ลืมไม่ลงของลูกเรือทั้งหมดจึงได้เริ่มต้นขึ้น..
นับตั้งแต่ถูกกัก สถานการณ์บนเรือเมื่อถูกกักกันโรคเป็นไปอย่างตึงเครียด โดยจากข้อมูลของเว็บไซต์ Yahoo Japan บรรยายถึงภาวะความเครียดที่ผู้คนบนเรือได้ประสบ ซึ่งมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น
โดย "ทุกคน" จะถูกบังคับให้อยู่แต่ภายในห้องพักของตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถออกมาเดินเล่น ไปไหนมาได้ได้ตามใจชอบ อย่างเก่า
เมื่อทุกคนไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้องพัก สิ่งเดียวที่ทำได้ คือ รอ.. และ รอ..
รอให้เจ้าหน้าที่สวมหน้ากากป้องกัน ใส่ชุดจัดเต็ม นำอาหารมาให้แต่ละห้อง และอย่าคาดหวังถึงมื้ออาหารสุดหรูอย่างเคย เพราะสิ่งที่ได้กลับกลายเป็นอาหารที่เรียบง่าย มีเพียงขนมปัง ผลไม้ และโยเกิร์ตเท่านั้น
ในวันหนึ่ง.. อาหารที่แสนเรียบง่ายดันมาช้ากว่าเดิม ด้วยความหิวที่ไม่อาจรอได้อีกต่อไป มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินออกจากห้องพักเพื่อจะทวงถามมื้ออาหารที่ควรจะได้ เธอก็ถูกเตือนด้วยน้ำเสียงที่ดังว่า ให้กลับเข้าห้องพักไป ซึ่งในวันนั้นกว่าจะได้รับอาหารจากเจ้าหน้าที่ก็เวลาประมาณราวๆ สามทุ่มแล้ว
ส่วนกิจกรรมต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นด้วยความสนุกสนาน ก็เงียบงันไป คนส่วนใหญ่บนเรือจึงมักจะใช้เวลาไปกับหน้าจอโทรทัศน์สี่เหลี่ยมภายในห้องพัก หรือใช้ Wifi เพื่อติดต่อกับคนภายนอก ผลที่ตามมาคือ ความเครียดที่เพิ่มมากขึ้น
หนักกว่านั้น คือ ผู้โดยสารบางคนที่มีโรคประจำตัว ก็เริ่มมีความกังวลถึงการขาดแคลนยารักษาโรคประจำตัวที่นำติดตัวมาจะไม่เพียงพอ ความกังวลนี้ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความวิตกถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าด้วย
อย่างเช่น David Able ผู้โดยสารชาวอังกฤษที่เดินทางมากับเรือสำราญลำนี้ สะท้อนถึงความกังวลผ่านวิดีโอที่โพสต์ลงเฟซบุ๊คส่วนตัวของเขา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7 กุมภาพันธ์) ว่า ผู้โดยสารหลายคนบนเรือไม่มียารักษาโรคเพียงพอในช่วงระยะเวลา 14 วัน โดยตัวเขาเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน และอินซูลินก็เหลือน้อยลงเช่นกัน ด้วยความกังวล วันที่ 5 กุมภาพันธ์ เขาจึงตัดสินใจโทรศัพท์ไปให้คุณหมอประจำตัว และให้คุณหมอเขียนใบสั่งยาให้ ความกังวลเปลาะแรกนี้ก็ได้คลายลง
แน่นอนว่า ทุกชีวิตบนเรือลำนี้ ต่างต้องต้องทนอยู่กับสภาพดังกล่าวพร้อมนับถอยหลังให้ถึงวันที่ 19 ก.พ. เร็วๆ เพราะนั่นคือวันครบกำหนดการเฝ้าระวังที่หากผ่านไปถึงวันนั้นได้โดยไม่ป่วย นั่นหมายความว่า พวกเขาปลอดจากเชื้อไวรัส
อย่างไรก็ตาม หลายคนเกิดความกังวลว่า เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ จะแพร่กระจายผ่านเจ้าหน้าที่ที่นำอาหารมาให้แต่ละมื้อและแต่ละห้องหรือไม่?
แต่! มันอาจไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะตลอดเวลาที่เรือจอดเทียบท่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าบนเรือลำนี้ก็ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น จากไม่กี่คนในวันแรก ก็พุ่งสูงขึ้น
โดยข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 12 ก.พ. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น ยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสทั้งหมด 175 คน เพิ่มขึ้น 40 คน และหนึ่งในนั้นคือเจ้าหน้าที่กักกันโรคเอง!!
นับว่าเรือสำราญลำนี้ เป็นสถานที่หนึ่งที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศจีน ที่มีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 40,000 คน และคร่าชีวิตประชาชนไปแล้ว 1,000 กว่าราย
หนึ่งในเรื่องน่ากังวลไม่น้อย คือ ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ หรือระยะเวลาที่ผ่านไปแล้วครึ่งทางของจำนวนวันที่จะต้องกักตัว ทางการญี่ปุ่นสามารถตรวจหาเชื้อผู้โดยสารและลูกเรือได้เพียง 492 คนเท่านั้น จากจำนวนทั้งหมด 3,700 คน
ถ้าลองคำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ คิดเป็นราวๆ 13% กว่าๆ และกำหนดปล่อยตัวในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จะเป็นไปตามกำหนดเดิมหรือไม่ หรือจะต้องขยายเวลาออกไปอีกเพื่อตรวจเชื้อ ที่สำคัญผู้คนบนเรือจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป
คงต้องติดตามกันต่อไปว่าสถานการณ์นี้จะคลี่คลายโดยเร็วได้เมื่อไร เพราะไม่เช่นนั้นภาวะเครียดอาจแทรกซึมเร็วกว่าโคโรน่าไวรัสก็เป็นไปได้
ข้อมูลส่วนหนึ่งเรียบเรียงจาก yahoo.co.jp