‘หุ้นแบงก์’ ดิ่งสุดรอบ 8 ปี ได้เวลาลงทุนหรือยัง?
ไม่เพียงแค่ช่วงต้นปี 2563 เท่านั้น ที่หุ้นใน "กลุ่มธนาคารพาณิชย์" ต้องเผชิญกับความท้าทายจากเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก
หากย้อนดูแนวโน้มดัชนีของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะเห็นว่าเริ่มกลับทิศเป็น "ขาลง" อีกครั้ง มาตั้งแต่ต้นปี 2561 จากดัชนีกลุ่มที่ระดับ 600 จุด ลดลงมาแตะ 400 จุด ปรับตัวลงมาแล้วถึง 33% ทำจุดต่ำสุดในรอบ 8 ปี
บรรดาหุ้นธนาคารขนาดใหญ่อย่าง บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) และบมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ต่าง ‘พาเหรด’ กันลงไป ‘เทรดต่ำกว่า book value’ หรือ มูลค่าทางบัญชี โดย P/BV ของหุ้นกลุ่มแบงก์ใหญ่ในขณะนี้อยู่ในกรอบประมาณ 0.6 – 0.9 เท่า
ส่วนหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่ยังซื้อขายสูงกว่าบุ๊คมีเพียง 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) และบมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO)
ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อหุ้นกลุ่มแบงก์ที่หดหายไปนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งขยายตัวชะลอลงมาต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัว 5% ลดลงมาเหลือขยายตัว 2.3 – 2.4% ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปี 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับแต่ไตรมาส 4 ปี 2557
สำหรับปี 2563 นี้ บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดการณ์ว่า GDP ของไทยมีแนวโน้มจะเติบโตเพียง 1.9% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 2.7% เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสซึ่งกระทบต่อกลุ่มท่องเที่ยว ประกอบกับการบริโภคจากจีนอาจจะซบเซาไปซักระยะ ทำให้ลุ่มส่งออกจะได้รับผลกระทบเช่นกัน
ทั้งนี้ ประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารของในปี 2563 อยู่ที่ 1.71 แสนล้านบาท ลดลง 1% จากปีก่อน ซึ่งรวมผลกระทบการลดดอกเบี้ยไปสู่ระดับ 1% แล้ว มีเพียง BBL ที่เราจะปรับประมาณการเพื่อสะท้อนการลดดอกเบี้ย และให้สอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินงานที่ธนาคารจะแจ้งเพิ่มเติม โดยเบื้องต้น ประมาณการกำไรของ BBL อยู่ที่ 3.69 หมื่นล้านบาท มีความเสี่ยงเชิงลบราว 3–6% ซึ่งหากปรับประมาณการ BBL ลง จะมีผลต่อคาดการณ์กำไรสุทธิของกลุ่มที่อาจลดลงราว 1% จากปัจจุบัน
คาดว่าธนาคารที่ได้รับผลกระทบเชิงลบสูงสุดคือ KTB เนื่องจากมีพอร์ตสินเชื่อและรายการระหว่างธนาคารที่ เป็นอัตราลอยตัวสูงที่สุด แต่การลดดอกเบี้ยจะเป็น sentiment เชิงบวกต่อธนาคารที่เน้นปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อส่วนมากมีอัตราดอกเบี้ยคงตัว ดังนั้นรายรับของกลุ่มธนาคารเหล่านี้จะยังไม่ปรับลงทันทีเมื่อดอกเบี้ยลง ประกอบกับด้านเงินฝากมีเงินฝากดอกเบี้ยคงตัวในอัตราสูง เรามองว่า TISCO จะได้ประโยชน์สูงสุด
ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า การจะเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์หลังจากที่ราคาปรับตัวลดลงมาในขณะนี้ ควรจะเลือกเฉพาะหุ้นที่น่าจะมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว เพราะแม้ว่าราคาหุ้นโดยรวมจะลดลงมาอยู่ในโซนถูก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงขาลงจากภาพรวมของเศรษฐกิจที่อาจจะถูกกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้การปล่อยสินเชื่อไม่เติบโต และ NPL เพิ่มสูงขึ้นได้
“โดยส่วนตัวมองว่า BBL มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เพราะตัวเลขสำรองที่สูงอยู่แล้ว ประกอบกับกำไรอาจจะเติบโตได้จากการรวมงบการเงินของธนาคาร Permata ในอินโดนีเซียเข้ามาด้วย ส่วนความเสี่ยงเรื่องของการลดดอกเบี้ยลงอีกนั้น แม้จะมีโอกาสน้อยแต่ก็ยังเป็นไปได้เพราะยังเป็นนโยบายที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง เป็นจุดที่ยังต้องระมัดระวัง"
ด้าน บล.เอเซียพลัส มองว่า นอกจากแรงกดดัน การลดดอกเบี้ยแล้ว รายได้ค่าธรรมเนียมซึ่งเป็นสัดส่วนราว 20% ของรายได้รวม จะถูกควบคุมด้วยเกณฑ์ ธปท. คาดส่งผลลบต่อธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมสูง นำโดย KBANK สัดส่วน 23% ของรายได้รวม BBL สัดส่วน 21% ของรายได้รวม KTB สัดส่วน 18.5% ของรายได้รวม และ SCB สัดส่วน 18% ของรายได้รวม
โดยทุกๆ 1% ของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่ลดลงจากประมาณการเดิม จะส่งผลให้กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารในปี 2563 ต่ำลงจากประมาณเดิมประมาณ 0.7% โดยรวมคงน้ำหนักการลงทุน น้อยกว่าตลาด
อย่างไรก็ตาม ดัชนีของกลุ่มธนาคารนับตั้งแต่ต้นปีปรับตัวลง 8.6% มากกว่าดัชนี SET ที่ลดลง 3.5% ตอบรับภาพดังกล่าวไปบางส่วนแล้ว ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มี P/BV ลดลงมาต่ำกว่า 1 เท่า จึงแนะนำ Wait & See เพื่อหาจังหวะเข้าลงทุน