Outsourcing VS Insourcing แบบไหนที่ตอบโจทย์?

Outsourcing VS Insourcing แบบไหนที่ตอบโจทย์?

ท่ามกลางกระแสดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม เห็นได้ชัดว่าเทรนด์ Insourcing พูดง่าย ๆ ก็คือให้คนในองค์กรทำ กำลังมาแรง หลาย ๆ องค์กรต่างสร้างทีมขึ้นมาลุยสู้ศึกดิจิทัล

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระแสที่ดังก็คือการ Outsourcing หรือไปว่าจ้างให้คนอื่นมาช่วยทำ เป็นการผลักภาระออกไปข้างนอก องค์กรต้องการรับผิดชอบเฉพาะ Core Business ของตัวเอง

แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป ดิจิทัลได้สร้างความท้าทายครั้งใหญ่ เลยจำเป็นต้องดึงเอาเรื่องที่เคยให้คนอื่นทำกลับมาทำเอง ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เมื่อก่อนพนักงานทั่ว ๆ ไปไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องของการโค้ดดิ้ง แต่เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องที่พนักงานทุกคนควรต้องทำความเข้าใจ เป็นต้น 

เมื่อถามถึงโอกาสและความท้าทายเกี่ยวกับเรื่องการ Insourcing กับ “อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง สลิงชอท กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจเป็นที่ปรึกษาและให้บริการด้านพัฒนาภาวะผู้นำและพัฒนาองค์กร เขามองว่า Outsourcing จะยังคงอยู่ไม่ได้ลดความนิยมลงไปและคิดว่ายังเป็นเทรนด์ที่แรงยิ่ง ๆ ขึ้นด้วยซ้ำ และมั่นใจว่าองค์กรจะจ้างคนนอกมากกว่าทำเอง เพราะองค์กรส่วนใหญ่เวลานี้หายใจเป็นคำว่า “Lean”


"ดังนั้นการ Insourcing ทุก ๆ อย่างคงทำไม่ได้ แต่จะมีเฉพาะบางตำแหน่ง เช่น ระดับที่เป็นหัวหน้างานหรือผู้บริหารฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง ขณะที่งานมาร์เก็ตติ้งระดับข้างล่างก็จ้างคนนอก สำหรับผมเห็นต่างคือมองว่ายิ่งหน่วยงานดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ๆ การใช้คนในจะไม่ค่อยดี การจ้างคนนอกจะดีกว่าเพราะจะมีการเรียนรู้ที่หลากหลายกว่า ขณะที่คนในจะต้องโฟกัสอยู่ที่หน่วยงาน ๆ เดียว"

พร้อมยกตัวอย่างเช่น ระหว่างหมอที่รักษาโรคในโรงพยาบาลกับหมอที่องค์กรจ้างเข้ามาเป็นพนักงานของบริษัท เพื่อตรวจพนักงานในบริษัทอย่างเดียว ที่สุดหมอที่เป็นพนักงานก็จะไล่ตามโรคที่อัพเดทขึ้นทุกวันได้ไม่ทันเท่าหมอที่อยู่ในโรงพยาบาลที่นอกจากประสบการณ์จริงในการทำงานแล้ว ยังได้มีการเรียนรู้ มีการเทรน การบินไปเรียน ไปดูงาน ได้แชร์ความรู้กับหมอทั่วโลกอย่างสม่ำเสมอ มีความรู้ที่กว้างขึ้น


"ผมคิดว่า องค์กรที่มีการ Insourcing หน่วยงานที่เป็นดิจิทัลต้องการความรวดเร็ว คงทำด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะรักษาความลับบางอย่าง หรือเป็นตำแหน่งงานที่หายาก จึงต้องการทำให้แน่ใจว่าองค์กรมีตำแหน่งงานนี้อยู่ เช่น คนที่เป็น Data Scientist หรือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ที่ปัจจุบันหาได้ยากมาก ทำให้องค์กรต้องคว้าตัวมาเพราะกลัวคู่แข่งจะฉกตัวตัดหน้าไปก่อน แต่ระยะยาวคนที่ถูกซื้อตัวไปเขาแฮบปี้หรือเปล่า บอกเลยว่าส่วนใหญ่ไม่ เพราะเขาต้องทำงานบางอย่างที่ไม่อยากทำ เช่นงานเอกสาร การประชุม การอัพเดทความรู้ก็อาจมีน้อยกว่าเพื่อนในอาชีพเดียวกัน การทำงานอยู่บริษัทอาจได้ความรู้น้อยลง"


เมื่อให้มองถึงผลดีผลเสีย อภิวุฒิมองว่าการ Insourcing จะมีผลดีในระยะสั้นจะมี คือสามารถตอบโจทย์บางอย่าง เช่น ได้ตัวคนในสายงานที่หาได้ยาก พอได้ตัวมาแล้วองค์กรก็จะได้ความรู้ประสบการณ์ของคนๆนั้น เพื่อนำมาใช้สร้างและขับเคลื่อนบางหน่วยงานให้มีความเข้มแข็ง หรือในบางครั้งองค์กรก็อาจมีเรื่องที่เป็นความลับ และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงไม่สามารถจ้างคนนอกได้


"แต่ในระยะยาวผลดีมีอยู่น้อย Insourcing ควรทำในระยะเวลาสั้นๆ ขณะที่การจ้างคนนอกองค์กรจะได้ความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายกว่า เพราะบริษัทที่รับจ้างส่วนใหญ่จะรับทำงานให้องค์กรมากกว่าหนึ่งแห่งก็จะรู้กว้าง ส่วนแผนกไอทีในบริษัทจะแคบกว่า อาจรู้ลึกแต่อาจขาดรู้กว้าง แต่ก็ขึ้นอยู่ว่าโจทย์ ณ เวลานั้น องค์กรต้องการการรู้ลึก หรือรู้กว้าง"


แต่การจ้างคนนอกทำให้ต้นทุนถูกกว่าหรือไม่ เขาบอกว่าไม่เสมอไปอาจมีทั้งราคาใกล้เคียง ถูกกว่า และแพงกว่า ยกตัวอย่างบางงานของ HR เช่นการทำเงินเดือน ที่เมื่อเทียบราคาแล้วการจ้างคนนอกไม่ได้ถูกกว่าแต่แพงกว่าด้วยซ้ำ เพราะการทำงานเกี่ยวกับค่าจ้างเงินเดือนต้องอาศัยความละเอียด ตัวเลขเงินเดือนเป็นอะไรที่จะผิดไม่ได้ ซึ่งก็หาคนทำยาก เพราะคนที่เรียนจบมาสูงๆก็ไม่อยากมานั่งทำงานแบบนี้ แต่พอจ้างคนที่เรียนระดับต่ำลงมาก็ไม่มีความละเอียดมากพอ เป็นต้น


ในฐานะเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีองค์กรขนาดใหญ่จำนวนมากมาว่าจ้าง “ธัชกรณ์ วชิรมน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซอร์ทิส จำกัด (Sertis) ซึ่งดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านเอไอและดาต้า ให้มุมมองว่า Outsourcing ยังคงมีความจำเป็นในบางเรื่องที่ต้องอาศัยความเก่ง ความเชี่ยวชาญที่มีความเฉพาะตัว


"อย่างเซอร์ทิสเอง เรามีมุมมีบางอย่างเป็นความสามารถพิเศษในเรื่องของดาต้าและเอไอ เพราะเราทำเรื่องนี้ทุกวัน และเราก็อาจทำงานในแอเรียที่ไม่ใช่เป็นแอเรียหลักขององค์กรเหล่านั้น ซึ่งจะให้เขามาเริ่มเองตั้งแต่ต้นก็เปลืองเวลา สิ่งที่เราไปช่วยเขาก็คือ เราทำอะไรที่เขาไม่ทำ ที่เขาไม่เคยทำ ช่วยเขาประหยัดเวลา และไปช่วยเสริมความสามารถบางเรื่องให้กับเขา เช่น องค์กรใหญ่จะมีแผนกกฏหมายกันทุกองค์กร แต่ถ้ามีเรื่องใหญ่ๆหรือต้องขึ้นศาล ผมเชื่อว่าทุกองค์กรจะจ้างสำนักงานกฏหมายข้างนอก ก็คล้ายกัน ถ้าเป็นเรื่องงานประจำวันก็ใช้คนของคุณ แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องมืออาชีพระดับเวิล์ดคลาสก็ต้องจ้างเรา"


แต่เขามองว่า ที่ดีที่สุดก็คือองค์กรควร Insourcing ด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าคุณค่าของสิ่งที่บริษัทที่ไปว่าจ้างทำให้นั้นคืออะไร และสามารถพูดจาภาษาเดียวกัน เปรียบเหมือนการดูฟุตบอล คนไม่ชอบไม่เคยเตะฟุตบอลเลยพอได้ดูการแข่งขันก็อาจคิดว่ามันเล่นไม่ยาก แต่หากได้ลองไปเตะเองก็จะรู้ว่ามันยากแค่ไหน เป็นต้น


ปิดท้ายที่ “นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี” กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย เขาอธิบายว่าวัตถุประสงค์ของ Insourcing กับ Outsourcin แตกต่างกัน ซึ่งในอดีตคนมองว่าการจ้างคนนอกก็เพื่อประสิทธิภาพด้านต้นทุน แต่ทุกวันนี้อาจมองว่าหากไม่ทำเองภายในอาจเสียความสามารถในการแข่งขันไป แต่การทำเองอาจมีความท้าทายในเรื่องของการคิดผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (Time to Market) ในเวลาที่รวดเร็วและเหมาะสม จึงต้องให้คนภายนอกมาช่วยทำงานในบางฟังก์ชั่น


"แต่ถ้าพูดถึงการทรานส์ฟอร์มวัฒนธรรมองค์กร ผมคิดว่าการพาร์ทเนอร์กับคนนอกจะช่วยเรื่องนี้ได้เยอะ เพราะเอคเซนเชอร์เองเวลาไปทำงานกับลูกค้า เราได้นำเอาหลักการ วิธีการทำงาน วิธีการตัดสินใจ วิธีการทดลองของเรา และนำเอาธรรมาภิบาลเข้าไป ลูกค้าจะได้เรียนรู้สิ่งที่เราทำ และนำเอาไปทรานส์ฟอร์มวัฒนธรรม วิธีการทำงานของเขาได้เร็วยิ่งขึ้น"