รู้ทัน ‘ฮุน เซน’ สวมบทฮีโร่กลบข่าวร้าย?
การที่ “ฮุน เซน” ผู้นำกัมพูชา อนุญาตให้เรือสำราญ “เวสเตอร์ดัม” ซึ่งมีต้นทางจากฮ่องกงเข้าเทียบท่าที่สีหนุวิลล์ ด้วยเหตุผลด้าน “มนุษยธรรม” ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงถูกวิจารณ์และความวิตกเรื่องไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ระบาด
“คุณจะให้พวกเขาไปไหน หากท่าเรืออื่น ๆ ปิดไม่ให้พวกเขาเทียบท่า สิ่งนี้เป็นการแสดงออกถึงการมีมนุษยธรรมของกัมพูชา” คำกล่าวอันน่าประทับใจของสมเด็จฮุน เซน ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวเฟรชนิวส์ทางโทรศัพท์ เกี่ยวกับการตัดสินใจให้เรือสำราญเวสเตอร์ดัมแวะเทียบท่าสีหนุวิลล์เมื่อกลางดึกวันพุธ (12 ก.พ.)
ก่อนหน้านี้ เรือเวสเตอร์ดัม ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทฮอลแลนด์ อเมริกา ไลน์ ถูกปฏิเสธทั้งจากทางการญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, เกาะกวม และไทย เนื่องจากวิตกว่าผู้โดยสารในเรืออาจติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ในที่สุด เรือสำราญพร้อมผู้โดยสาร 1,455 คนและลูกเรือ 802 คนก็ได้เข้าเทียบท่าสีหนุวิลล์ช่วงเช้าวันนี้
สมเด็จฮุน เซน ซึ่งปกครองประเทศมานานกว่า 35 ปี บอกว่า การเปิดรับเรือลำนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นต่อชาวโลกที่กัมพูชาจะดูแลคนชาติอื่น ๆ ซึ่งถ้าประเทศอื่นไม่รับ กัมพูชาจะรับเอง และย้ำว่า “โรคที่แท้จริงคือ ความกลัว ไม่ใช่ไวรัสโคโรน่า”
"เราต้องร่วมมือกันช่วยเหลือทุกคนที่อยู่บนเรือ ไม่ว่าจะเป็นเผ่าพันธุ์ใด โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ กัมพูชาไม่เพียงแต่ให้ความร่วมมือกับจีน เราร่วมมือกับทุกประเทศ เมื่อพวกเขาความช่วยเหลือ เราก็ต้องช่วยพวกเขาด้วยทัศนคติที่รับผิดชอบ"
- ภาพถ่ายระยะไกลของเรือเวสเตอร์ดัมที่จอดอยู่นอกฝั่งสีหนุวิลล์ประมาณ 1 กิโลเมตร (เครดิต: AFP) -
เหตุผลที่นายกฯกัมพูชากล่าวถึงจีน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า กัมพูชาได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์จากรัฐบาลปักกิ่ง เพื่อมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนต่าง ๆ ในประเทศ
- “ได้ใจ” นานาชาติ
ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวนี้ยังได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดย ทีโดรส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวในวันพุธว่า ถือเป็นแบบอย่างของความเป็นอันหนึ่งเดียวกันของนานาชาติที่ WHO เรียกร้องมาตลอด
“การแพร่ระบาดของโรคทำให้เราเห็นทั้งด้านดีและด้านแย่ของมนุษย์” เกเบรเยซุสระบุ “แทนที่เราจะทุ่มเทพลังงานทั้งหมดที่มีเข้าจัดการกับการแพร่ระบาดโดยตรง การตราหน้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคนทั้งประเทศไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากเป็นปฏิกิริยาตอบสนองอันเจ็บปวด และผลักไสผู้คนให้หันมาต่อต้านกันเอง”
- กัมพูชาใช้เฮลิคอปเตอร์ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปตรวจสุขภาพคนบนเรือเป็นรายบุคคล เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าก่อนพาขึ้นฝั่ง (เครดิต: เฟซบุ๊ค นายเกาะ จำรูญ ผู้ว่าฯ จ.พระสีหนุ) -
ขณะที่ ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกัมพูชา ทวีตขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาอย่างมากที่อนุญาตให้เรือเวสเตอร์ดัมที่มีผู้โดยสารเป็นพลเมืองสหรัฐเข้าเทียบท่าและขึ้นฝั่งที่เมืองสีหนุวิลล์
งานนี้ กัมพูชาได้ใจ WHO และสหรัฐไปเต็ม ๆ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่เคยปฏิเสธเรือเวสเตอร์ดัมจะมี "หน้าชา" จากคำพูดของผอ. WHO บ้างหรือไม่ ก็แล้วแต่จุดยืนและเหตุผลของแต่ละรัฐบาล
- รับข่าวร้ายเสียสิทธิการค้า
แต่ที่น่าสังเกตคือ ข่าวการสวมบทพระเอกครั้งนี้ของสมเด็จฮุน เซน เกิดขึ้นแทบจะพร้อมกับข่าวร้ายของอุตสาหกรรมหลักของกัมพูชาอย่าง “สิ่งทอ” ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์และมีแรงงานกว่า 700,000 คน ด้วยเหตุผลจากการละเมิด “สิทธิมนุษยชน” ในประเทศ
คล้อยหลังที่สมเด็จฮุน เซนประกาศรับเรือเวสเตอร์ดัมได้ไม่กี่ชั่วโมง สหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้าต่อกัมพูชา ขณะเดียวกันยังหันไปทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชาอย่างเวียดนามแทน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค.
อียูระบุว่า สาเหตุที่ต้องตัดสิทธิพิเศษทางการค้าต่อกัมพูชา เนื่องจากรัฐบาลของสมเด็จฮุน เซน มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
มาตรการล่าสุดของอียู ทำให้กัมพูชาเสียสิทธิพิเศษทางการค้าที่เคยได้รับจากอียูภายในโครงการ “Everything but Arms” หรืออีบีเอ ซึ่งอนุญาตให้กัมพูชาสามารถส่งออกสินค้าไปยังอียูได้ทุกรายการ โดยไม่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า ยกเว้นอาวุธ
อีบีเอ เป็นโครงการที่อียูให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศยากจนที่สุดในโลกจำนวน 48 ประเทศ โดยการสูญเสียสิทธิพิเศษตามโครงการอีบีเอ ทำให้เสื้อผ้าส่งออกของกัมพูชาไปอียูต้องเสียภาษีเพิ่ม 12% รองเท้าต้องเสียภาษี 8-17% จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษี
- ตลาดอียูสำคัญต่อกัมพูชาแค่ไหน
ยุโรปถือเป็นตลาดสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าของกัมพูชาที่มีมูลค่าถึง 9,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ประเทศอื่น ๆ ที่ผลิตเสื้อผ้าราคาถูกต่างแข่งกันชนิดหืดขึ้นคอ เพื่อชิงส่วนแบ่งจากกัมพูชา
นอกจากนี้ กัมพูชายังเป็นซัพพลายเออร์สิ่งทอรายใหญ่อันดับ 6 ของอียู โดยในปี 2561 กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและสิ่งทอไปตลาดอียูเป็นมูลค่ากว่า 4,000 ล้านดอลลาร์
- อุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชามีแรงงานกว่า 7 แสนคนและสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ (เครดิต: AFP) -
แต่สิ่งที่อาจทำให้รัฐบาลกัมพูชาเจ็บใจไม่น้อยคือ ในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐสภายุโรปลงมติด้วยคะแนนเสียง 401-192 อนุมัติการทำเอฟทีเอกับเวียดนาม โดยระบุว่ารัฐบาลฮานอยมีความคืบหน้าในการรับประกันสิทธิแรงงาน
เอฟทีเอนี้เป็นข้อตกลงที่มีความครอบคลุมมากที่สุดของอียูที่ทำไว้กับประเทศกำลังพัฒนา และเป็นข้อตกลงฉบับที่ 2 ที่ทำไว้กับประเทศในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หลังจากที่อียูทำข้อตกลงกับสิงคโปร์ไปก่อนหน้านี้
- เครดิตสิ่งทอกัมพูชา “ทรุด”
ก่อนที่อียูจะตัดสินใจลงดาบกัมพูชาล่าสุด บรรดาแบรนด์ดังระดับโลก เช่น อาดิดาส, ลีวาย สเตราส์, ราล์ฟ ลอเรน และนิวบาลานซ์ ในนามของสมาคมเสื้อผ้าและรองเท้าอเมริกัน ส่งจดหมายเปิดผนึกให้นายกฯ ฮุน เซนเมื่อเดือนที่แล้ว เรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูปอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยทันที
เนื้อความในจดหมายที่ลงนามโดยบริษัทและสมาคม 23 แห่ง ระบุว่า “ความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเดินทางของกัมพูชากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง” และว่า แม้การปฏิรูปมีความคืบหน้าจริง แต่ปัญหาที่หลายแบรนด์กังวลยังไม่ได้รับการแก้ไข
แบรนด์ดังเหล่านี้เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายสภาพแรงงานให้เปิดกว้างมากขึ้น ยกเลิกกฎหมายปราบปรามเอ็นจีโอขอให้ทางการยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้นำสหภาพแรงงาน และขอให้สภาพแรงงานทุกแห่งเข้าถึงอนุญาโตตุลาการด้านแรงงานของกัมพูชาได้
ก่อนไวรัสระบาด ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า จีดีพีกัมพูชาจะลดลงเหลือ 6.8% ในปีนี้ จาก 7% ในปี 2562 และก่อนหน้านั้นก็เคยประเมินว่า การเสียสิทธิอีบีเอจะทำให้มูลค่าการส่งออกสิ่งทอของกัมพูชาลดลงระหว่าง 320-380 ล้านดอลลาร์
- ผ้าพันคอทอมือติดสติกเกอร์ธงชาติกัมพูชาที่รัฐบาลของสมเด็จฮุน เซน เตรียมไว้แจกนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญเวสเตอร์ดัมที่ผ่านการตรวจโรคแล้ว (เครดิต: Fresh News) -
ด้วยเหตุนี้ สมเด็จฮุน เซน จึงพยายามพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการแจก “ผ้าพันคอทอมือ” ให้แก่นักท่องเที่ยวทุกคนที่มาจากเรือสำราญเวสเตอร์ดัม เพื่อเป็นการโปรโมทผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไปในตัว ในช่วงที่ฝ่ายค้านกำลังใช้ประเด็นวิกฤติอุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศ โจมตีผู้นำวัย 67 ปี
ดังนั้น การประกาศรับบทพ่อพระช่วยเหลือเรือเวสเตอร์ดัมนอกจากเป็นเรื่องเหตุผลด้านมนุษยธรรมตามที่สมเด็จฮุน เซนอ้างแล้ว ยังเป็นไปได้ว่าเขาต้องการชิงพื้นที่สื่อโดยใช้เรื่องนี้มาต่อสู้กับข่าวด้านลบที่กำลังถาโถม