ส่อง 3 ขุมทรัพย์ 'ทบ.' ก่อนเตรียมส่งคืนคลัง
'ทบ.' เตรียมเซ็น ‘เอ็มโอยู’ โอนขุมทรัพย์กว่าล้านไร่ในพื้นที่ของ สวนสน - สนามกอล์ฟ - สนามมวย เพื่อส่งคืนที่ราชพัสดุ โดยทั้งสามแห่งนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นสถานที่ด้านสันทนาการของกองทัพบก
หลังจากเหตุสะเทือนขวัญ “กราดยิงโคราช” ซึ่งผู้ก่อเหตุ เป็นทหารในสังกัด “กองทัพบก” ทำให้ ผบ.ทบ.สูงสุดอย่างพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหาร ออกมาแถลงข่าวทั้งน้ำตาแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยปมสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุ “กราดยิงโคราช” มาจากเงื่อนงำด้านธุรกิจในหน่วยทหารจนก่อเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ก่อเหตุที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้บังคับบัญชา
นำมาซึ่งการเตรียมรื้อระบบธุรกิจในหน่วยทหารของกองทัพบก โดยมีโครงการหลายอย่างเป็นจำนวนมาก เช่น บ้านสวัสดิการทหาร เป็นต้น โดยสิ่งแรกที่กำลังจะจัดการคือ จะมีการลงนามกับกระทรวงการคลังในการใช้ "ที่ราชพัสดุ" เป็นโครงการสวัสดิการเชิงพาณิชย์ โดยนำเงินและรายได้กลับเข้าสู่กระทรวงการคลัง นี่คือการเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานานของกองทัพบก ซึ่งปัจจุบันกองทัพถือครองที่ราชพัสดุ จำนวน 7 ล้านไร่ จากจำนวนที่ราชพัสดุทั้งหมด 12 ล้านไร่ทั่วประเทศ
โดยทาง “กองทัพบก” ได้เริ่มเดินหน้ารื้อธุรกิจในหน่วยทหาร และเตรียมเซ็นเอ็มโอยู 2 ฉบับร่วมกับ “คลัง” ในวันที่ 17 ก.พ. 2563 นี้ เพื่อส่งมอบพื้นที่ราชพัสดุกว่า 1 ล้านไร่ คืนกรมธนารักษ์ พร้อมเปิดทางให้เอกชนร่วมบริหารพื้นที่ โดยรายได้แบ่งจัดสรรให้คลังส่งเข้าแผ่นดินทั้งหมด ซึ่งเฟสแรกจะประเดิมด้วย 3 โปรเจคด้านสันทนาการอย่าง “โรงแรมสวนสนประดิพัทธ์” “สนามกอล์ฟ ทบ.” และ “สนามมวยลุมพินี” ด้าน ผบ.ทบ. ย้ำต้องเร่งแก้ไขให้ได้มากที่สุดก่อนเกษียณ สำหรับสถานที่ทั้งสามแห่งนี้มีรายละเอียดและมีมูลค่าเท่าไหร่ เข้ามาเช็กข้อมูลกันหน่อย
- อ่านข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผ่าโปรเจค 'บ้านจัดสรรทหาร' ขบวนการเงินทอน งาบหัวคิว!
1. สวนสนประดิพัทธ์ สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก
สวนสนประดิพัทธ์ เดิมอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ต่อมาได้โอนให้ “กองทัพบก” ให้ใช้ในกิจการทางทหารเป็นโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของข้าราชการกองทัพบก ภายในมีการพัฒนาสวนสนประดิพัทธ์ให้เป็นสถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก เพื่อให้เป็นสวัสดิการของข้าราชการกองทัพบกและข้าราชการทั่วไป แต่สำหรับประชาชนก็เปิดให้เข้าไปเที่ยวที่สวนสนประดิพัทธ์ได้เหมือนกัน
ภายในมีโรงแรมหรูริมชายหาด ขนาด 160 ห้อง อาคารบังกะโล บ้านพักตากอากาศหลังเดี่ยวติดชายหาด และเรือนนอนสำหรับค่ายพักแรมเป็นหมู่คณะ มีห้องน้ำอย่างเพียงพอ ร้านค้าสวัสดิการ อาคารอเนกประสงค์ ห้องประชุมสัมนา ลานจัดเลี้ยง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ นอกจากนั้นยังพัฒนาให้มีศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก สวนสนประดิพัทธ์ ภายในมีสนามกอล์ฟติดทะเลมีความสวยงาม
พื้นที่: ประมาณ 1,065 ไร่
พิกัด: ตั้งอยู่บริเวณบ้านหนองแก ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้านหน้าติดถนนเพชรเกษม ตั้งอยู่บริเวณชายหาดสวนสนประดิพัทธ์ห่างจาก กรุงเทพ ฯ ประมาณ 190 กม.
สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ: ห้องอาบน้ำจืด ห้องสุขา รวมทั้งเตียงผ้าใบ เสื่อ ห่วงยางเล่นน้ำ ร้านอาหาร และยังสามารถนำอุปกรณ์มาประกอบอาหารทานได้อีกด้วย
2. สนามกอล์ฟ ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก รามอินทรา (ทบ.)
สนามกอล์ฟศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก(รามอินทรา) หรือ "สนามกอล์ฟ ทบ." มีทั้งหมด 2 สนามด้วยกันคือ สนามเก่าจำนวน 18 หลุม และสนามใหม่ 18 หลุม และสถานที่ของสนามกอล์ฟก็มีการออกแบบได้สวยงาม ทั้งการจัดสวน การวางแนวต้นไม้ และการออกแบบทิวทัศน์โดยรอบก็เขียวขจีร่มรื่นสวยงาม
ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก เริ่มต้นจากการสร้างสนามแรกทางด้านสนามตะวันตก(สนาม ทบ.1เดิม) ในปี พ.ศ.2506 สมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจร เป็น ผบ.ทบ. ผู้บังคับบัญชาผู้ใหญ่และนักกอล์ฟทหารบกทั้งหลายในขณะนั้น ได้มีความคิดริเริ่มร่วมกันที่จะให้กองทัพบกมีสนามกอล์ฟเป็นของตนเอง
ต่อมา 23 สิงหาคม 2506 กองทัพบกได้ออกคำสั่ง (เฉพาะ)ที่ 311 เรื่องตั้งคณะกรรมการก่อสร้าง สนามกอล์ฟ ทบ.โดยมี พล.อ.จิตติ นาวีเสถียร เสธ.ทบ. ในขณะนั้นเป็นประธานกรรมการ จากนั้นก็ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างสนามกอล์ฟ 18 หลุมโดยใช้พื้นที่ของกองทัพบกบริเวณหลัง ร.11รอ. ประมาณ 500 ไร่เศษ ก่อสร้างแล้วเสร็จใช้เวลาทั้งสิ้น 21 เดือนเศษ โดยมี พล.อ.ประภาส จารุเสถียร ผบ.ทบ.ในขณะนั้นได้มาเป็นประธานเปิดสนามกอล์ฟกองทัพบก 18 หลุม เพื่อใช้ประโยชน์มาตั้งแต่บัดนั้น
ส่วนสนามที่ 2 ทางด้านตะวันออก เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2526 สมัยที่ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็น ผบ.ทบ. ได้มีดำริให้สร้างสนามกอล์ฟเพิ่มเติมขึ้นอีกแห่งหนึ่ง โดยมี พล.ต.ไพศาล รุ่งแสง เป็นประธานกรรมดำเนินงาน โดยก่อสร้างแล้วเสร็จใช้เวลาทั้งสิ้น 11 เดือนเศษ และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบกก็ได้มีสนามกอล์ฟครบ 2 สนาม จำนวน 36 หลุม
อีกทั้งมีข้อมูลว่าสนามกอล์ฟศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก(รามอินทรา) มีการพัฒนาและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานด้วย โดยมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถผลิตไฟฟ้านำมาใช้ภายในตัวอาคารและสนามกอล์ฟแห่งนี้ได้อย่างครอบคลุม
พื้นที่: ประมาณ 500 ไร่เศษ
พิกัด: ถนนรามอินทรา ต.อนุสาวรีย์ อ.เขตบางเขน จ.กรุงเทพมหานคร
สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ: สนามฝึกซ้อมมีเลนสำหรับฝึกซ้อมใหญ่ สระว่ายน้ำสำหรับผู้ใหญ่ สระว่ายน้ำสำหรับเด็ก ห้องออกกำลังกาย (ฟิตเนส) ห้องนวดแผนไทย และห้องจัดเลี้ยงสำหรับงานมงคลสมรส งานสังสรรค์ งานประชุมสัมมนา เป็นต้น เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00 - 23.00 น. แบ่งเป็นเปิดบริการสนามช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน
3. สนามมวยลุมพินี
สนามมวยเวทีลุมพินี (Lumpinee Boxing Stadium) เป็นสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทย เทียบเท่ากับสนามมวยราชดำเนิน เดิมตั้งอยู่บนถนนพระราม4 ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2499 โดย พลตรี ประภาส จารุเสถียร ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ โดยมีการชกมวยนัดแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกัน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมสวัสดิการทหารบก กองทัพบก
ปัจจุบันสนามมวยเวทีลุมพินีได้ย้ายมาอยู่ที่ ถนนรามอินทรา กม.2 ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 อาคาร ประกอบด้วย อาคารสนามมวยเวทีลุมพินี อาคารสำนักงานสนามมวยเวทีลุมพินี และอาคารที่จอดรถ 5 ชั้น สนามมวยเวทีลุมพินีมีการจัดการชกมวยทั้งมวยไทยและมวยสากล ผ่านการนัดสำคัญๆ มาเป็นจำนวนมาก เช่น การชิงแชมป์โลกครั้งแรกของ “โผน กิ่งเพชร กับปาสคาล เปเรซ” เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2503 เป็นต้น
มีการชิงแชมป์ของเวทีทั้งในแบบมวยไทยและมวยสากล ซึ่งผู้ที่ได้แชมป์ของเวทีนี้ก็เสมือนได้แชมป์ของประเทศไทย และมีการเดิมพันแชมป์กับแชมป์ในรุ่นเดียวกันของสนามมวยราชดำเนินเรื่อยมา มีข้อมูลว่าสนามมวยเวทีลุมพินี สามารถจัดเก็บค่าผ่านประตูได้มากถึง 3,000,000 บาท ผู้ชมกว่า 10,000 คน เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2532
พื้นที่: ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน
พิกัด: ตั้งอยู่ในพื้นที่ของศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ
สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ: ที่นั่งชมจุผู้ชมได้มากกว่า 5,000 คน, พิพิธภัณฑ์มวยไทย, ห้องประชุม, ห้องรับรองแขกวีไอพี, อาคารจอดรถ 5 ชั้น, ร้านอาหาร, ห้องอบซาวน่า, ร้านนวดแผนไทย, ลานวัฒนธรรม และห้องฝึกซ้อมมวยไทย
------------------------
อ้างอิง:
https://dba3-rojanasak.blogspot.com/2014/06/aec-2558-200-160-40.html
http://www.prachuaptown.com/travel/huahin/suansonpradipat.php