'สมคิด' ถกสหรัฐ-ญี่ปุ่น ดึงลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
“สมคิด” หารือทูตสหรัฐเตรียมการเดินทาง “ประยุทธ์” พบ “ทรัมป์” ในเวทีอาเซียน-สหรัฐ เตรียมดึงบริษัทใหญ่ซิลิคอน วัลเลย์ลงทุนในไทย พร้อมจีบญี่ปุ่นนำเงินอินฟราฟันด์ลงทุนไทย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังหารือกับนายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบรเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่าได้หารือเกี่ยวกับการเดินทางเยือนสหรัฐฯของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯในวันที่ 14 มี.ค.ที่เมืองลอสแองเจลิสว่าในวันดังกล่าวนอกจากจะเป็นการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯและผู้นำอาเซียน 10 ประเทศแล้วยังมีการหารือทวิภาคีระหว่างผู้นำสหรัฐฯและผู้นำของไทย นอกจากนั้นสหรัฐฯมีความสนใจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ซึ่งมีการผลักดันผ่านยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS)ซึ่งได้มีการจัดการประชุมฯระหว่างสหรัฐฯ กับ ACMECS ขึ้นด้วย
ทั้งนี้สหรัฐยได้สอบถามถึงความคืบหน้าของการลงทุนของไทยในสหรัฐฯซึ่งได้ให้ข้อมูลว่าบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของไทยมีแผนที่จะไปลงทุนในสหรัฐฯเช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีแผนี่จะลงทุนในอุตสาหกรรมปิตโคเคมีและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในมลรัฐโอไฮโอมูลค่ารวมประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐในไทยคือโครงการแผนลงทุนโรงงานปิโตรเคมีชั้นสูงในประเทศไทยมูลค่าลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาทนั้นได้แจ้งให้ทางสหรัฐทราบว่ามีความคืบหน้าไปมากและผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จ
นายสมคิดกล่าวว่าในระหว่างวันที่ 8 - 14 มี.ค.ตนและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)จะได้เดินทางไปยังสหรัฐเพื่อชักจูงบริษัทขนาดใหญ่รวมทั้งบริษัทสตาร์ทอัพเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะบริษัทสหรัฐฯที่อยู่ในซิลิคอน วัลเลย์ รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาชั้นนำในสหรัฐที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการไทย
สำหรับการหารือกับนายคิยามะ ชิเกรุ (Mr. Kiyama Shigeru) ที่ปรึกษาพิเศษรัฐบาลญี่ปุ่นและทูตโครงการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่ทำเนียบรัฐบาลว่าญี่ปุ่นได้สอบถามถึงความคืบหน้าของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสนใจมากโดยได้มีการแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าของโครงการที่สำคัญในอีอีซีที่มีความคืบหน้าไปตามลำดับ ส่วนการลงทุนของญี่ปุ่นในกองทุนข้อริเริ่มด้านเงินกู้และการลงทุนสำหรับอาเซียน (Initiative on Overseas Loan and Investment for ASEAN) มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาคการเงินของญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้บริษัทเอกชนญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของไทย โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งญี่ปุ่นได้มีการกล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงชิงคันเซ็น กทม.-เชียงใหม่ โดยญี่ปุ่นยังมีความสนใจในโครงการนี้ซึ่งจะมีการหารือกันต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ. นี้ ส่วนตัวจะนำคณะไปยังประเทศญี่ปุ่นซึ่งจะมีโอกาสพบกับรัฐมนตรีของกระทรวงสำคัญของญี่ปุ่นโดยมีประเด็นที่จะหารือในเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งรัฐบาลไทยมีความตั้งใจ โดยได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลศึกษา (Feasibility Study) การรับฟังจากทุกฝ่าย เพื่อหาข้อมูลทั้งข้อดีและผลกระทบจากการเข้าร่วม เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเดือน เม.ย.โดยจะมีการหารือร่วมกันระหว่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทั้ง 2 ประเทศ เพื่อผสานความร่วมมือ นำโมเดลการพัฒนาเกษตรกรของญี่ปุ่นมาพัฒนาเกษตรกรไทยอีกด้วย