เปิด! 3 แนวทาง 'อนาคตใหม่' คดีชี้ชะตาการเมืองไทย

เปิด! 3 แนวทาง 'อนาคตใหม่' คดีชี้ชะตาการเมืองไทย

นักวิชาการชี้คดีเงินกู้อนาคตใหม่ออกได้ 3 ทาง ยุบ-ยกคำร้อง​ ไม่ยุบ-ตัดสิทธิกรรมการบริหาร​หรือไม่ก็รอดทั้งหมด ด้านประธาน กกต. รอเชือดอีกคดีอาญา “ธนาธร” ถือหุ้นสื่อ

ความคืบหน้ากรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ในคดีเงินกู้พรรคในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ล่าสุด นายยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นส่วนตัวแก่หนังสือพิมพ์คมชัดลึก (15 ก.พ.) ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคดีการยุบพรรคอนาคตใหม่น่าจะออกมาในแนวทางใดแนวทางหนึ่งในสามแนวทาง ดังนี้

1.วินิจฉัยยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค โดยศาลรัฐธรรมนูญอาจเห็นว่าพรรคการเมืองไม่สามารถกู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจแก่พรรคการเมืองเอาไว้

2.วินิจฉัยไม่ยุบพรรคแต่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเฉพาะกรรมการบริหารพรรค โดยเล็งเห็นว่าการกู้เงินเป็นความผิดเฉพาะตัวของกรรมการบริหารพรรคที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงโทษถึงขั้นยุบพรรคแต่อย่างใด หรือ

3.วินิจฉัยไม่ยุบพรรคและไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญอาจมีความเห็นว่าการกู้เงินไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

158173243278

นายยอดพล กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของคดีนี้อยู่ที่ว่าพรรคการเมืองมีอำนาจกู้เงินมาใช้ดำเนินกิจกรรมของพรรคได้หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่า ไม่ว่าจะตีความสถานะของพรรคการเมืองในทางเอกชนหรือในทางมหาชน พรรคการเมืองย่อมสามารถกู้เงินได้ เพียงแต่ต้องมีเงื่อนไขว่าเงินที่กู้มานั้นนำมาใช้สำหรับกิจกรรมของพรรคการเมืองผู้กู้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการกู้เงินเพื่อบังหน้าให้แก่นายทุนที่เข้ามาครอบงำพรรคการเมือง

ไม่ว่าจะตีความสถานะของพรรคการเมืองในทางเอกชนหรือในทางมหาชน พรรคการเมืองย่อมสามารถกู้เงินได้ เพียงแต่ต้องมีเงื่อนไขว่าเงินที่กู้มานั้นนำมาใช้สำหรับกิจกรรมของพรรคการเมืองผู้กู้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการกู้เงินเพื่อบังหน้าให้แก่นายทุนที่เข้ามาครอบงำพรรคการเมือง

“พรรคการเมืองในต่างประเทศกฎหมายเปิดโอกาสให้กู้เงินได้ เพราะกฎหมายเล็งเห็นว่า พรรคการเมืองบางพรรค โดยเฉพาะพรรคการเมืองเฉพาะทางสมควรให้เกิดขึ้นมาได้ หากไปกีดกันด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายแล้ว พรรคการเมืองลักษณะนี้ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน โดยจะต้องมีระบบตรวจสอบว่าการกู้เงินนั้นเป็นการกู้เงินกันจริงๆ ไม่ได้เป็นการอำพรางใดๆ ทั้งสิ้น” นายยอดพล แสดงความคิดเห็น

สำหรับความชัดเจนของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เกี่ยวกับการให้อำนาจพรรคการเมืองกู้เงินนั้น นายยอดพล มองว่า การฟ้องคดีนี้ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พุ่งเป้าไปที่มาตรา 72 ที่บัญญัติ ว่า

“ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ซึ่งมาตรา 72 นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองไปทำการรับเงินที่มาจากการกระทำที่ผิดกฎหมายเป็นสำคัญ เช่น เงินจากการค้ายาเสพติด หรือเงินที่มาจากการฟอกเงิน เป็นต้น ดังนั้น การนำการกู้เงินมาปรับเข้ากับมาตรา 72 อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วการวินิจฉัยคดีทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวกำลังมีความสนใจว่าหากในอนาคตมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาแล้ว จะดำเนินการคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมีอย่างไรมากกว่า พรรคการเมืองใดจะได้ ส.ส.เพิ่มมากขึ้นหรือพรรคการเมืองใดจะได้ ส.ส.ลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบของกฎหมายพรรคการเลือกตั้งและการเลือกตั้ง ยังไม่ได้รองรับสถานการณ์ในลักษณะนี้เท่าที่ควร

158173245084

  • ชี้หากยุบเหตุเงินกู้ ไม่มีบัญญัติ

ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ให้ความเห็นว่า หากพิจารณาจากสำนวนที่ทาง กกต.ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่า การวินิจฉัยในเรื่องนี้อาจมีข้อจำกัดอยู่ในวงแคบลง ซึ่งออกได้ 2 ทางคือ

1.ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค โดยให้เหตุผลว่าเงินกู้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นเงินที่พรรคการเมืองไม่สามารถมีได้ และหากมองว่าเป็นเงินบริจาคก็จะบริจาคได้คนละไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนที่เหลือถือว่ามีความผิด นอกจากนี้ยังอาจมองด้วยว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบ

2.ยกคำร้อง โดยเห็นว่าไม่ผิดกฎหมาย

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวหากเทียบ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2560 กับ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2550 นั้น จะมีความแตกต่างกัน เพราะ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2550 ได้บัญญัติว่าด้วยรายได้อื่นใดของพรรคการเมืองไว้ด้วย เหตุนี้ทำให้พรรคการเมืองในช่วงนั้นสามารถกู้เงินได้ แต่มาถึง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2560 ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องดังกล่าว นั่นหมายความว่าจะไม่ให้พรรคการเมืองมีรายได้อื่นใด นอกเหนือจากรายได้ที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าพรรคการเมืองไม่สามารถกู้เงินได้ นอกจากนี้พรรคการเมืองยังเป็นองค์การมหาชน อะไรที่กฎหมายไม่ได้เปิดโอกาสให้สามารถทำได้ ย่อมไม่สามารถทำได้ 

“อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่ได้มองไปถึงการยุบพรรค แต่อธิบายกฎหมาย สำหรับแรงกระเพื่อมที่จะเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หากมีการยกคำร้อง คนที่ไม่ได้เชียร์พรรคอนาคตใหม่ ก็จะมองว่าพรรคอนาคตใหม่ทำถึงขนาดนี้ ศาลยังยกคำร้อง แต่หากยุบพรรคอนาคตใหม่ แรงกระเพื่อมย่อมจะมีมากกว่า และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อาจจะนำมวลชนออกไปเคลื่อนไหว ชุมนุมเดินขบวนได้” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

  • คำตัดสินถือว่าเป็นบรรทัดฐาน

ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ทิศทางว่า สำหรับผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากเป็นบวกนั้นจะทำให้พรรคการเมืองต่างๆ มีบรรทัดฐานว่าการกู้เงินเพื่อมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไม่มีความผิดถึงแม้จะไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายใดๆ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร

ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้มีสภาพบังคับจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 จึงเสมือนหนึ่งว่าเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายให้พรรคการเมืองต่างๆ แต่หากคำวินิจฉัยออกมาเป็นลบว่าพรรคอนาคตใหม่กู้เงินไม่ได้ ผลที่เกิดขึ้นในอนาคตกับพรรคการเมือง จะมีปัญหาเรื่องของแหล่งทุนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และส่งผลต่อทุนที่จะมาครอบงำพรรคการเมืองในทางอ้อมแทน ทำให้ยังเป็นปัญหาการเมืองไทย ในเรื่องวังวนที่มีกลุ่มทุนเข้ามามีอิทธิพลในพรรคการเมืองเหมือนในอดีต 

รศ.ดร.ยุทธพร ยังมองไปถึง 18 พรรคการเมืองที่ยังมีคดีคล้ายๆ กับพรรคอนาคตใหม่ต้องมาพิจารณาว่า ในคดีที่คล้ายกันจะมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะหากข้อเท็จจริงของคดีเป็นเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบรรทัดฐานเดียวกัน แต่หากบางพรรคการเมืองมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันออกไป ก็อาจไม่มีผลกระทบ

ขณะเดียวกันเชื่อว่ามีโอกาสจะเห็นปรากฏการณ์ “ผึ้งแตกรัง” หากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรรมนูญออกเป็นทางลบกับพรรคอนาคตใหม่ แต่เชื่อว่าจะมีจำนวนไม่มาก ภายหลังมี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่บางส่วนเป็น ส.ส.งูเห่าไปแล้ว ทำให้ ส.ส.ที่เหลืออยู่จะมีความเข้มข้นทางอุดมการณ์ ซึ่งเปรียบเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์เคยเผชิญกับกลุ่ม “10 มกรา” หรือพรรคพลังประชาชน เคยเผชิญกับกลุ่ม “ภูมิใจไทย” เป็นต้น 

“ถ้าผึ้งแตกรังจะเกิดขึ้นผมคิดว่ามีไม่มากนัก ไม่เหมือนกับกรณีมี ส.ส.งูเห่าในพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นชัดเจนถึง 4 ราย แต่บรรดาแกนนำของพรรคจะหายไปจากการเมืองค่อนข้างแน่นอน เพราะเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหากออกมาเป็นทางลบ จะต้องมีการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ทำให้คนกลุ่มนี้จะทำงานการเมืองไม่ได้ระยะเวลายาวนาน จึงต้องมาทำงานนอกสภา จากบทบาทไม่เป็นทางการ ถึงแม้จะมีการจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่เตรียมไว้แล้ว แต่จะมีผลเฉพาะกับ ส.ส.ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งรัฐธรรมนูญจะคุ้มครองในระยะเวลา 60 วัน” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว

รศ.ดร.ยุทธพร ระบุด้วยว่า ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ในกรณีคำวินิจฉัยออกมาเป็นทางลบ จะมีการขยับตัวเองโดยเฉพาะแกนนำ ไปเคลื่อนไหวทางสังคม จากเดิมที่เคยเคลื่อนไหวทางสังคมมาแล้ว และได้วางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการเมืองในสภาและนอกสภาไว้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ ถือว่ามีบทบาททางกฎหมาย มีส.ส.ในสภาหากจะทำอะไรจะเป็นเรื่องเป็นราวได้มากกว่า หากเทียบกับการเคลื่อนไหวนอกสภา ดังนั้นพลังของพรรคอนาคตใหม่อาจจะอ่อนแรงลง ไม่ได้เข้มข้นเหมือนเดิมแต่ก็มีความเสี่ยงจากคนที่อยู่ในอำนาจรัฐ เพราะถ้าพรรคอนาคตใหม่ไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจริงๆ จะมีกฎหมายควบคุมกำกับพรรคการเมือง หรือมีข้อบังคับเหมือนกับข้อบังคับในสภาหรือไม่ ทำให้การกำกับการเคลื่อนไหวอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ในอนาคตอาจกลับไปสู่การเมืองแบบมวลชนก็เป็นไปได้

  • ยันไม่ถอยไม่ทน คดียุบพรรค

ที่พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เราไม่ถอย ไม่ทน ถ้ากลัวผู้มีอำนาจ เราก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่เขาใช้คดีความ หรือคำร้องเรียนต่างๆ มาทำลายผู้ที่ลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมของพวกเขา ถ้าเรากลัว พวกเขาก็จะประสบความสำเร็จ การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เมื่อไม่นานมานี้วุฒิสภาได้ผ่านรายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แล้ว หรือต้องการให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันตัดสินคดีเสียก่อน ยืนยันว่าพวกเราหนักแน่นและมั่นคง ไม่ว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรค เราอภิปรายต่อแน่นอน ส่วนเรื่องที่กรรมการบริหารพรรคจะอภิปรายและอาจจะถูกตัดสิทธิ์ไม่สามารถอภิปรายได้หลังคำตัดสินนั้น เราก็จะออกมาอภิปรายนอกสภาแทน

  • รอสรุปคดีอาญา “ธนาธร” หุ้นสื่อ

ขณะที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กับนายธนาธร ฐานรู้แล้วว่า ไม่มีสิทธิสมัครแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สิ้นสภาพ ส.ส.จากเหตุถือหุ้นสื่อวี-ลัค มีเดีย ว่า ขณะนี้คณะกรรมการไต่สวนส่งเรื่องมาให้ กกต.พิจารณาแล้ว แต่ได้ส่งเรื่องกลับไปเพื่อให้ไปพิจารณาประเด็นอื่นเพิ่มเติม จึงอยู่ระหว่างการรอคณะกรรมการไต่สวนส่งกลับมาอีกครั้ง

นายอิทธิพร ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ขอสำนวนการไต่สวนคดียุบพรรคอนาคตใหม่ประเด็นเงินกู้ 191 ล้านบาท หลังพรรคอนาคตใหม่ยื่นฟ้องกลับ 7 กกต.ว่า เป็นเรื่องที่ศาลขอให้ กกต.ไปชี้แจง ไม่ใช่ขั้นตอนของการไต่สวน และเจ้าหน้าที่ของ กกต.จะไปชี้แจงต่อศาลในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ยืนยันไม่กังวลกับการถูกฟ้องกลับ เพราะเป็นเรื่องที่สามารถฟ้องร้องได้หากไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของ กกต.แต่ยืนยันทุกอย่างเป็นการดำเนินการตามหน้าที่