กสร. ฝึก 'นิติกร' เป็นทนายว่าความแก้ต่างให้ลูกจ้างในศาลแรงงาน
กสร. ฝึก “นิติกร” เป็นทนายว่าความแก้ต่างให้ลูกจ้างในศาลแรงงาน
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า กรมมีกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบหลายฉบับ “นิติกร” ในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายของกรม นอกจากทำหน้าที่ให้คำปรึกษากฎหมายแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่สำคัญตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 คือ การเป็นทนายความ ฟ้องคดี หรือแก้ต่างคดีให้แก่ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายจนคดีถึงที่สุด และทำหน้าที่ฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาท รวมถึงการประสานคดีกับพนักงานอัยการในศาลแรงงาน จึงจำเป็นที่นิติกรต้องมีความรู้และเข้าใจในกฎหมาย เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ในศาลแรงงานได้ถูกต้องเหมาะสม
ดังนั้น กรมจึงจัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านกฎหมาย หลักสูตร การว่าความใน ศาลแรงงานขึ้น เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องดังกล่าว มุ่งหวังเพิ่มพูนทักษะ สร้างประสบการณ์เกี่ยวกับการเตรียมคดี ก่อนเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสำนวน การจัดเตรียมพยานหลักฐาน การวางรูปคดี การพิจารณาคดีในศาล ให้สามารถฟ้อง/แก้ต่างคดีให้กับลูกจ้าง รวมถึงให้มีความรู้ในขั้นตอนและวิธีการติดตามหนี้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง การฟ้องคดีและการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ การติดตามหนี้กองทุนฯ กรณีใช้สิทธิทางศาลแพ่ง การจำหน่ายหนี้สูญ การตรวจสอบทรัพย์สิน ตลอดจน การยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน
อธิบดี กสร. กล่าวต่อว่า โครงการข้างต้น มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนิติกร และผู้ปฏิบัติงานด้านนิติการ จากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวนทั้งสิ้น 35 คน ใช้ระยะเวลา 5 วัน มีการบรรยาย การฝึกปฏิบัติศาลจำลอง การฝึกปฏิบัติเขียนคำฟ้อง คำให้การ คำร้องขอต่าง ๆ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด กรมบังคับคดี และทนายความภาคเอกชน ซึ่งจะได้นำความรู้ ที่ได้รับไปใช้ในการปฏิบัติงานให้เต็มที่ อันจะเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง สมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย และบรรลุภารกิจของกรมต่อไป