หมดยุค! พก 'เงินสด' เที่ยวนอก ธปท.หนุนใช้ 'คิวอาร์โค้ด' ในต่างประเทศ
"ธปท." เปิดบริการชำระเงินข้ามประเทศ "ไทย-กัมพูชา" ผ่านระบบคิวอาร์โค้ด หนุนกัมพูชาโมบายแบงกิ้งจ่ายเงินร้านค้าในไทยได้ทันที ส่วนคนไทยสามารถข้ามไปชำระเงินในกัมพูชาได้ไตรมาส 3 พร้อมเดินหน้าขยายท่อชำระเงินในอาเซียน เชื่อมระบบชำระเงินไทย-สิงค์โปร์ไตรมาส 3
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ร่วมกับธนาคารกลางกัมพูชา และธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดบริการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดข้ามประเทศระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารพาณิชย์ในกัมพูชา ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ ( Sponsoring bank)
บริการดังกล่าว เริ่มให้บริการกับนักท่องเที่ยวกัมพูชาที่เดินทางมาไทย ให้สามารถใช้โมบายแบงกิ้งเพื่อสแกน Thai QR code ชำระเงินร้านค้าในไทยได้ตั้งแต่วานนี้ (18ก.พ.) และภายในไตรมาส 3 ปีนี้ นักท่องเที่ยวไทยจะสามารถชำระค่าสินค้าและบริการร้านค้าในกัมพูชาได้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ ช่วยลดต้นทุนต่อภาคธุรกิจ นักท่องเที่ยวและประชาชนให้ถูกลง ปลอดภัยมากขึ้น และได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกกว่าเคาน์เตอร์แลกเงิน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะลูกค้าไทยพาณิชย์เท่านั้นที่ชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดได้แต่ลูกค้าจากทุกแบงก์สามารถสแกนชำระเงินได้ทั้งหมด
เขากล่าวว่า ธปท.ยังเดินหน้าในการขยายการชำระเงินในประเทศอาเซียนต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3 ปีนี้ ธปท.จะเชื่อมต่อระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างพร้อมเพย์ (PromptPay) ของประเทศไทยกับระบบ “PayNow” หรือ เพย์นาว ของสิงคโปร์ด้วย ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อระหว่างระบบกลางของไทย ที่เชื่อมผ่านไอทีเอ็มเอ็กซ์กับระบบกลางของสิงค์โปร์โดยตรง เพื่อให้เกิดการชำระเงินข้ามประเทศระหว่างไทยและสิงค์โปรในระยะถัดไป ทำให้มีความสะดวกมากขึ้นในอนาคต
“วันนี้ระบบชำระเงินข้ามประเทศ ที่เปิดให้บริการแล้ว หลักๆมีลาว กัมพูชา ญี่ปุ่น และสิงค์โปร์ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันระบบการชำระเงินมีความหลากหลายมากขึ้น ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของระบบชำระเงินแต่ละประเทศ มีทั้งที่แบงก์ทำเอง หรือทำผ่านระบบกลาง หรือบางประเทศ การชำระเงินต่างๆ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของไทยก็ทำได้แล้ว เช่นในสิงค์โปร ซึ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนการชำระเงินต่างๆ มากขึ้น” ผู้ว่าการธปท.กล่าว
ด้ายนายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)(SCB) กล่าวว่า การชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code เป็นรูปแบบการชำระเงินที่สะดวกสบายและมีความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน Interoperable QR Code จะถูกแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลท้องถิ่นในทันที รองรับปริมาณธุรกรรมของนักท่องเที่ยว ตลอดจนการค้าขายของทั้งสองประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านค้าในประเทศไทยที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยระบบคิวอาร์โค้ด มากกว่า 5 ล้านร้านค้าในทั่วประเทศ โดยเป็นร้านค้าที่ใช้งานคิวอาร์โค้ดของไทยพาณิชย์ จำนวน 1.5 ล้านร้านค้า ซึ่งพร้อมรองรับการชำระเงินของนักท่องเที่ยวกัมพูชาในประเทศไทยที่มีจำนวนถึง 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันในปัจจุบันคนไทยมีการใช้งานโมบายแบงกิ้งจำนวนมากกว่า 50 ล้านบัญชี โดยเป็นการใช้งานผ่านแอพพลิชัน SCB EASY จำนวน 10.6 ล้านบัญชี