“มนัญญา”ดันประกาศกระทรวงคุมโรงงานผลิตสารเคมีต้องได้ 3 มาตรฐาน
"มนัญญา" ยื่นคณะกรรมการวัตถุอันตราย เห็นชอบยกร่างประกาศกระทรวง คุมโรงานผลิตสารเคมีทางการเกษตร ต้องได้รับรอง 3 มาตรฐานไอเอสโอ เปิดให้โอกาสโรงงานผลิตสารเคมีปรับปรุงแก้ 2 ปี
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนัดประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย และพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ ที่ยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....
โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้สถานที่ผลิตวัตถุอันตราย หรือโรงงานผลิต ต้องได้การรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และมีห้องปฏิบัติการซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตราย จากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน โดยหน่วยงานมาตรฐานในประเทศไทย ยกเว้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์ และสารสกัดจากพืช สถานที่ผลิตวัตถุอันตราย ที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายอยู่ก่อนแล้ว ให้ระยะเวลาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะเวลาอีก 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
ทั้งนี้ไม่รวมถึงสถานที่ผลิตวัตถุอันตราย ที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายที่ถูกจำกัดการใช้ ซึ่งในการป้องกันอันตรายผู้ปฏิบัติงานนั้น กำหนดให้มีการตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการมีวัตถุอันตรายสะสมอยู่ในร่างกาย ถ้าผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่มีสารประกอบในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟสหรือคาร์บาเมต ต้องตรวจหาระดับซีรัมโคลีนเอสเตอเรสด้วย พร้อมจัดทำทะเบียนประวัติสุขภาพ ของผู้ปฏิบัติงานและหากตรวจพบวัตถุอันตรายสะสมในร่างกายจนถึงระดับอันตราย ต้องจัดให้ผู้นั้นได้รับการรักษาหรือไปปฏิบัติงานอื่นตามความเหมาะสม
ร่างประกาศกระทรวงดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้จัดทําการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงผ่านทางเว็บไซต์ ของกรมระหว่างวันที่ 27 ม.ค. 2563 ถึง 12 ก.พ. 2563 รวม 15 วัน มีผู้ให้ความเห็น 10,258 คน ในจำนวนนี้ 9,590 คน หรือ 93.49% เห็นด้วย และที่เหลือ 668 ราย หรือ6.51 % ไม่เห็นด้วย
“ ในขณะนี้มีโรงงานที่ขึ้นทะเบียนอยู่ทั้งสิ้น 143 โรงงาน หากคณะกรรมการวัตถุอันตราย เห็นชอบตามยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ ดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรก็สามารถดำเนินการตามยกร่างได้เลย ซึ่งโรงงานที่ไม่สามารถปรับปรุงได้ตามมาตรฐาน ISO ที่กำหนดก็ไม่มีสิทธิ์ผลิตหน่ายสารเคมีทางการเกษตรเพื่อจำหน่ายอีกต่อไป “
ทั้งนี้จากการสำรวจสต็อก เมื่อวันที่ 22 ม.ค. พบว่ามีทั้งสิ้น 22,534.70 ตัน แบ่งเป็น พาราควอต 10,234.92 ตัน ตัน ไกรโฟเซต 10,583 ตัน และ คอไพริฟอส 1,716 ตัน