เนชั่นเปิดหลักสูตร 'ดีทีซี' รุ่น2 หวังช่วยซีอีโอรับมือดิจิทัล ดิสรัปชั่น
กลุ่มเนชั่นเดินหน้าหลักสูตร “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟอร์ ซีอีโอ" (DTC) รุ่นที่ 2 หวังต่อยอดแนวคิดให้ซีอีโอในมุมกว้าง ท่ามกลาง "ดิจิทัล ดิสรัปชั่น" ที่ยังรุนแรง
เดินทางมาถึงรุ่นที่ 2 แล้ว สำหรับหลักสูตร “Digital Transformation for CEO” โดยความร่วมมือระหว่าง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อีซี จำกัด (มหาชน) พิธีเปิดหลักสูตรรุ่นที่ 2 วันแรก วานนี้ (21 ก.พ.) มี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส มาปาฐกถาเปิดหลักสูตร ภายใต้หัวข้อ “Digital Transformation for CEO 2020 ผู้นำดิจิทัล 2020” พร้อมด้วย นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ปาฐกถาในหัวข้อ "Transforming banking for the next generation Case Study SCB)
นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจถูก ดิจิทัล ดิสรัป อย่างรุนแรง โลกเชื่อมโยงกันหมด ใครเปลี่ยนแปลงช้าอาจหมายถึงการเดินถอยหลัง หรือ การล่มสลายขององค์กร
หลักสูตรนี้ เน้นความรู้ในมุมกว้าง ดึงวิทยากรมาถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อให้ซีอีโอได้แนวคิดในการปรับองค์กรให้เดินไปได้ ผู้บริหารส่วนใหญ่ปัจจุบัน มักอยู่ในยุคเบบี้บูม ไม่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ หลักสูตรนี้ต้องการบอกเล่าเรื่องราว ผู้บริหารจะได้มีความรู้และได้แง่คิดต่างๆไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจ
สำหรับรุ่นที่ 2 นี้ มีซีอีโอเข้าร่วมทั้งหมด 91 คน มาจากซีอีโอภาครัฐ 8% ภาคธุรกิจ 92% ที่มาจากทุกกลุ่มธุรกิจ
- ดีอีเอสชี้ผู้บริหารต้องเปลี่ยน “มายด์เช็ท”
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กล่าวในหัวข้อ “Digital Transformation for CEO 2020 ผู้นำดิจิทัล 2020” ว่า การปรับตัวเองเข้าสู่ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งสำคัญ คือ ผู้บริหารองค์กรต้องเปลี่ยนกรอบคิด หรือมายด์เซ็ตถ้าผู้บริหารไม่เปลี่ยน ก็ทรานส์ฟอร์มไม่ได้ จากนั้นพนักงานในองค์กรต้องปรับตัว เปลี่ยนตัวเองรับยุคดิจิทัลให้ได้ และสุดท้ายอุปกรณ์ที่ใช้ในองค์กรต้องมีการปรับเปลี่ยน
เขากล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 93.39 ล้านเครื่อง ใช้อินเทอร์เน็ต 9 ชั่วโมงต่อวัน ใช้โซเชียลมีเดียติดอันดับโลก คนไทยมีความพร้อมด้านดิจิทัล ติด 1 ใน 10 ของโลก ที่ผ่านมา ดีอีเอส จึงไปโรดโชว์แล้วดึงแพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ค ยูทูบ ทวิตเตอร์เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น
“เราใช้โซเชียลเหล่านี้ ติดอันดับโลก แต่ทำไมเราไม่ได้รับโอกาสการลงทุนในเรื่องของโซเชียลจากบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้เลย”
นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางของโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ หรือ ซับมารีน ด้วย ซึ่งไทยอยู่ใจกลางของอาเซียน มีนักลงทุนอยากเข้ามาลงทุน สิ่งเหล่านี้ คือ ความพร้อมของไทยในเรื่องของดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเปิดให้นักลงทุนได้รู้เลยว่าไทยทำอะไรได้บ้าง ดีอีเอสจึงพยายามไปถ่ายทอด และชักชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทย
สิ่งที่นักลงทุนต้องการเมื่อมาลงทุนในไทย คือ เน็ตเวิร์ค และ บุคลากร โดยที่ผ่านมา ดีอีเอสทำโครงการร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ไปตั้งศูนย์อบรมเพิ่มทักษะ รีสกิล อัพสกิล ตั้งเป้าให้ได้ 40,000 คนปีนี้ด้วย
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศเผชิญกับวิกฤติต่างๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สงครามการค้า โดยเฉพาะโคโรน่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทรุดหนัก ส่งออกก็มีปัญหา อุตสาหกรรมดิจิทัล การค้าขายออนไลน์ คือ ตัวช่วยเศรษฐกิจของไทย ถ้ามีแนวทางที่ชัดเจน
“เรากำลังทำ ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ ใช้พื้นที่ใน อ.ศรีราชา ซึ่งอยู่ในพื้นที่อีอีซี เชิญบริษัทดิจิทัลเข้ามาลงทุน ไทยต้องการเป็น อาเซียน ดิจิทัล ฮับ มีนักลงทุนตอบรับแล้ว ไมโครซอฟท์พร้อมเข้ามาลงทุนใช้งบเป็นพันล้านทำศูนย์ ไอโอที แล็บ ที่นี่”
- 5G หนุนขับเคลื่อนประเทศอนาคต
นายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงการประมูล 5G ด้วยว่า 5G จะเป็นเทคโนโลยีที่มาขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต 5G ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ 3G 4G ที่ให้ข้อมูล เสียง ภาพคมชัด แต่ 5G เป็นเครือข่ายเทคโนโลยีที่จะมาปฏิรูปชีวิตประจำวัน การรักษาพยาบาล การคมนาคม รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ไอโอที เอไอ
“ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการประมูล 5G และ ให้เอกชนนำไปพัฒนาได้เร็วสุด การตัดสินใจ การลงทุนต่างๆ จะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีเน็ตเวิร์ค 5G มันสำคัญมากกับโลก กลุ่มสำคัญที่จะใช้ประโยชน์ คือ การรักษาพยาบาล คมนาคม เป็นเหตุผลว่า ทำไมทีโอที และกสท โทรคมนาคมต้องเข้าร่วมประมูล เพราะเราอยากให้คนอีกกลุ่มได้ใช้ เช่น ภาคการเกษตร รักษาพยาบาล ถ้าคลื่น 5G อยู่กับรัฐวิสาหกิจ การใช้ 5G ทำบริการเพื่อสาธารณะก็จะง่ายขึ้น”
- ยุคแห่ง “ดาต้า”
เขากล่าวด้วยว่า ยุคนี้สิ่งที่ผู้บริหารองค์กรต้องคำนึงถึง คือ เรื่องของข้อมูล หรือดาต้า องค์กรไหนมีดาต้าดีที่สุด คือ ผู้ชนะ ดีอีเอส มีความพยายามที่จะทำบิ๊กดาต้าของประเทศ ซึ่งจะช่วยต่อยอดสร้างประโยชน์ให้ประชาชน และธุรกิจได้ ที่ผ่านมา ดีอีเอส ได้ทำบิ๊กดาต้าในเรื่องของการรักษาพยาบาลไปแล้ว รวมถึงบิ๊กดาต้าในเรื่องของแรงงาน
ขณะเดียวกัน เรื่องของ พ.ร.บ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่รัฐเพิ่งประกาศใช้ไป เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารองค์กรต้องทำความเข้าใจ เพราะมีความสำคัญกับทุกคน และทุกธุรกิจ ที่จะคุ้มครองสิทธิของคุณ และบริษัทที่มีข้อมูลมากๆ ต้องมีระบบป้องกันข้อมูลที่ดี บทลงโทษของกฎหมายนี้สูงมากมีทั้งปรับ และจำคุก 5 ปี ซึ่งขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการทำกฎหมายลูก ซึ่งเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น เป็นสิ่งที่ธุรกิจควรต้องให้ความสนใจ