เก็บกระสุน-ตุนเสบียง มองข้ามช็อท 'ครึ่งปีหลัง'
มีการประเมินว่า กว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ก็น่าจะกินเวลาไปถึงครึ่งปีแรกของปีนี้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เห็นจะเป็นการ “เก็บกระสุน ตุนเสบียง” ไว้ให้พร้อม ในขณะที่มุมมองภาคธุรกิจนับเป็นอีกปีที่ยากลำบาก
เพียงแค่สองเดือนแรกของปี 2563 ประเทศไทย ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งในแผนที่โลก ที่ไม่อาจหลีกพ้นจากวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่ไม่เพียงฉุดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งกินสัดส่วน 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จากนักท่องเที่ยวจีน (ประเทศต้นตอการแพร่ระบาดของโรค) ที่ถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 1 ของไทย มีปริมาณลดลงถึง 90% เท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากชาติอื่น เนื่องจากหวาดเกรงการติดโรค จึงเลิกหรือเลื่อนการเดินทางออกไปจนกว่าจะรู้สึกปลอดภัย
นอกจากนี้พิษของโควิด-19 ยังลามไปกระทบกับภาคส่งออกไทย คิดเป็นสัดส่วน 70% ของจีดีพี ฐานที่ไทยเป็นหนึ่งในซัพพลายเชนสินค้าจีน เมื่อฐานการผลิตในจีนมีปัญหา ย่อมส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนในไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้นเมื่อนำจีดีพีภาคท่องเที่ยว และภาคการส่งออก มารวมกันคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 90% ของจีดีพี แม้วิกฤติจากภัยเชื้อโรค จะไม่ได้ทำให้สัดส่วนจีดีพีวูบหายไปทั้งหมด แต่ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้
จนทำให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดประมาณการขยายตัวจีดีพี จากระดับ 2.7-3.7% ลงมาเหลือ 1.5-2.5% ในปีนี้ ขณะที่ทิศทางจีดีพีในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติโควิด-19 สำนักวิจัยเศรษฐกิจบางสำนักคาดการณ์ว่า “มีโอกาสติดลบ” เช่นเดียวกับมุมมองของภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว หมายรวมถึงธุรกิจทัวร์ โรงแรม สายการบิน รถบัสนำเที่ยว ที่ดูเหมือนจะยอม “ยกธงขาว” ในการธุรกิจขับเคลื่อนธุรกิจในไตรมาสแรก ต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีแรกกันแล้ว
โดยพวกเขาประเมินคล้ายๆ กันว่า กว่าการแพร่ระบาดของโรคจะทุเลาหรืออยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ก็น่าจะกินเวลาไปถึง “ครึ่งปีแรก” ของปีนี้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เจ็บตัวน้อยที่สุด เห็นจะเป็นการ “เก็บกระสุน ตุนเสบียง” ไว้ให้พร้อม โดยเฉพาะการลดต้นทุนในทุกมิติ การบริหารสภาพคล่อง เพื่อประคับประคองธุรกิจให้รอดพ้นภาวะมืดมนนี้ไปให้ได้ ครึ่งหลังของปีค่อยมาลุยสาดกระสุนธุรกิจกันต่อ
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายตัวแปรแทรก ที่อาจทำให้การคาดการณ์ของภาคธุรกิจ “ถูก” หรือ “ผิด” นอกจากการคาดการณ์เรื่องเงื่อนเวลาทุเลาของโควิด-19 ที่อาจไม่เป็นดังหวังแล้ว ปัจจัยการเมืองในประเทศที่ทำท่าจะมีอุณหภูมิร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผสมโรงกับ “ปัญหาภัยแล้ง” ที่เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่คืบคลานมาเรื่อยๆเมื่อเข้าใกล้ฤดูร้อน ยังเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมรับมือกับปัญหาที่กำลังจะก่อตัวขึ้น ขณะเดียวกันยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้างพื้นฐานจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่กำลังดิสรัปธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทัน มาหายใจรดต้นคอ ปีนี้ในมุมมองของภาคธุรกิจจึงเป็นอีกปีที่ยากลำบาก เผชิญปัญหาจากทุกทิศทุกทาง “สติ สมาธิ ปัญญา” ให้ท่องไว้