CIBA บูรณาการข้ามศาสตร์ ปั้นผู้ประกอบการแบบครบเครื่อง
CIBA มธบ. ผนึก นิติ-เศรษฐศาสตร์ บูรณาการข้ามศาสตร์ บ่มเพาะทักษะผู้ประกอบการแบบครบเครื่อง ปั้นนักศึกษาสตาร์ทอัพรู้รอบด้าน
ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy: CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า จากผลความสำเร็จของโครงการCIBA Mini Capstoneที่ได้ปลูกฝังแนวคิดและจิตวิญญาณความเป็นสตาร์ทอัพตั้งแต่ปีแรกและเข้มข้นขึ้นในทุกปีของการศึกษา ส่งผลให้ทีมนักศึกษาของธุรกิจบัณฑิตย์คว้ารางวัลระดับประเทศจากการแข่งขันในหลายรายการ
อาทิ รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง จากโครงการประกวดนวัตกรรมข้อมูลเปิดภาครัฐ ปี 2562 (Thailand Data Innovation Awards 2019,DIA by DGA) ด้วยผลงานแอพพลิเคชั่น “J-Elder” ซึ่งช่วยผู้สูงอายุหางานได้ตรงตามคุณสมบัติ ตอกย้ำความสำเร็จของโครงการให้ขยายการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น
สำหรับปีที่ 2 แนวทางการเสริมสร้างทักษะผู้ประกอบการให้กับนักศึกษามีเข้มข้นมากกว่าเดิม โดยโครงการ “CIBA Mini Capstone 2020 : Startup Teams & the Coach”ในปีนี้ จะเน้นพัฒนาทักษะเชิงบูรณาเพื่อการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพแบบครบเครื่อง
โดยนำศาสตร์สำคัญที่สตาร์ทอัพจำเป็นต้องรู้มาถ่ายทอดให้กับนักศึกษาผ่านทีมโค้ชผู้เชี่ยวชาญ ทั้งศาสตร์ด้านการจัดการ การบัญชี เศรษฐศาสตร์ และกฎหมาย (จากคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์) เพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้นำความรู้ทั้งหมดภายใต้รายวิชาแกนที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาเป็นโครงงานธุรกิจฉบับมินิขึ้น ภายใต้โจทย์ผลิตภัณฑ์เพื่อไลฟ์สไตล์ประชากรยุค Thailand 4.0
โครงงานของนักศึกษาที่เป็นดาวเด่นจะได้รับคัดเลือกจากโค้ชขึ้นประกวด “Prototype Pitching” บนเวที ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม 2563 เวลา 08.00-13.30 น. ณ ห้องประชุมปรีดีพนมยงค์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 6 ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
งานนี้มีผลงานแบบจำลองธุรกิจของนักศึกษาที่น่าสนใจมานำเสนอจำนวนไม่น้อย อาทิ ทีมSnowflake : Batique พริ๊นเตอร์ไฮเทค แถมหมึกลบได้ด้วย ทีมLet it go : Immer Spin กระจกอัจฉริยะสำหรับคนชอบส่องบนชีวิตเร่งรีบ ทีมOlaf : Supervise Watch นาฬิกาผู้ช่วยคนสูงวัย ปลอดภัยวางใจได้ ทีมWonder : Old Staff ไม้เท้าแสนรู้สุดไฮเทคคู่ใจผู้สูงอายุ ทีมSeven Swords (นศ.จีน หลักสูตรBilingual): Parcel Locker ล๊อคเกอร์คู่บ้านรับของนำส่งแบบโล่งใจแม้ไม่อยู่บ้าน
“ปีนี้จะมีการบูรณาการร่วมกันกับหลักสูตรอื่นด้วยทั้งเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแบบองค์รวมของสตาร์ทอัพ เพราะการเป็นผู้ประกอบการ จะมีความรู้ด้านการบริหารจัดการ การตลาด การบัญชี เพียงเท่านี้ไม่ได้ ต้องรู้ครอบคลุมไปถึงกฎหมายหรือเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็น การจัดตั้งบริษัท กฏหมายภาษี กฎหมายการจดสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ร่วมทุน หรือมีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเป็นสตาร์ทอัพก็ต้องรู้เรื่องของ Demand และ Supply ตรงจุดไหนที่ธุรกิจจะคุ้มทุน ความรู้เหล่านี้ก็ต้องมีด้วยเช่นกัน” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว
ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวในตอนท้ายว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ยืนหนึ่งเรื่องธุรกิจ โครงการ CIBA Mini Capstone จึงมุ่งหวังให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของ CIBA ได้ฝึกฝนการคิดเชิงวิเคราะห์ การออกแบบธุรกิจ การกำหนดกลยุทธ์ การประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจ การบัญชีเบื้องต้น การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ และการเตรียมตัวด้านกฎหมายเพื่อการจัดตั้งธุรกิจ
สิ่งต่างๆเหล่านี้ทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์พยายามปลูกฝังเข้าไปในตัวนักศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเป็นต้นแบบสตาร์ทอัพยูนิเวอร์ซิตี้