บอร์ดแข่งขันฯเตือน BDMS ซื้อหุ้น BH จริง ต้องขออนุญาตก่อนรวมธุรกิจ
ตามที่มีกระแสข่าวว่า บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) จะเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer) ในหุ้นทั้งหมดของ บมจ. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) นั้น
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) หรือบอร์ดแข่งขัน และในฐานะโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ชี้แจงว่า ตามหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้า มีเจตนารมย์ที่จะมุ่งให้ตลาดมีการแข่งขันมากที่สุด โดยการแข่งขันนั้นจะต้องมีความเป็นธรรมควบคู่กันไปด้วย ในอีกด้านหนึ่งก็จะต้องปกป้องตลาดไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งเข้าไปผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขัน หรือทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับปัจจุบัน ได้มีการปรับแก้ไขมาจากฉบับปี พ.ศ. 2542 และมีความชัดเจนในการบังคับใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการรวมธุรกิจ ซึ่งมีการกำหนดไว้ชัดเจนใน 2 กรณี
กรณีที่ 1 หากรวมธุรกิจแล้วทำให้เกิดการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาด (ส่วนแบ่งตลาด50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายรวม 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป) กรณีนี้จะต้องดำเนินการขออนุญาต และได้รับอนุญาตจาก กขค. ก่อน จึงจะสามารทำการรวมธุรกิจได้
กรณีที่ 2 หากร่วมธุรกิจแล้วทำให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่ง (ส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่า 50% และมียอดเงินขายรวม 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป) กรณีนี้ จะต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจกับ กขค. ภายในระยะเวลา 7 วัน นับจากวันที่รวมธุรกิจเสร็จสิ้น
สำหรับกรณีของ บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (BDMS) หากมีการดำเนินการเข้าซื้อหลักทรัพย์ของ บมจ. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (BH) จริงตามที่เป็นข่าว จะต้องขออนุญาตจาก กขค. ก่อนดำเนินการ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดเป็นลำดับต้นของประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้จำนวนผู้แข่งขันและสภาพการแข่งขันในตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังจะต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและผู้บริโภคว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดอีกด้วย
นอกจากนี้ กขค. ขอแจ้งเตือนผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ๆ ที่กำลังมีแผนการควบรวมธุรกิจหรือเข้าซื้อหุ้นในธุรกิจอื่น ให้ศึกษากฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันการกระทำผิดตามกฎหมายแข่งขันทางการค้าโดยมีได้ตั้งใจ ทั้งนี้หากไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน0.5% ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ