'มายาคติ' ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดภาวะรวยกระจุกและจนกระจายมากขึ้น แต่ทำไมการแก้ปัญหาจึงไม่ค่อยจะบรรลุผลเท่าที่ควร มีกับดักมายาคติอะไรที่คอยปิดกั้นไม่ให้มองเห็นทางออกของปัญหาหรือไม่
บรรยากาศการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในหลายวันที่ผ่านมา หัวข้อหลักก็หนีไม่พ้นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ตามที่ทราบกัน ผู้แทนราษฎรต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดภาวะรวยกระจุกและจนกระจายมากขึ้น แต่ทำไมการแก้ปัญหาจึงไม่ค่อยจะบรรลุผลเท่าที่ควร มีกับดักมายาคติอะไรที่คอยปิดกั้นไม่ให้มองเห็นทางออกของปัญหาหรือไม่
มายาคติที่ทำให้พวกเราต้องถกเถียงกันเป็นประจำก็เช่นเรื่อง “ประเทศไทยขยับขึ้นเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินมากที่สุดในโลก ในเวลาเพียง 2-3 ปี” โดยแต่ละฝ่ายก็จะอ้างตัวเลขของหน่วยงานต่างประเทศที่เป็นคนละสถาบันกันเพื่อมาใช้สนับสนุนความเชื่อของตน โดยไม่ได้พิจารณาข้อจำกัดของ “ดัชนีตัวชี้วัด” ที่กำลังเถียงกันอย่างสับสนว่า
อันที่จริงแล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้มากนักในเวลาเพียงสั้นๆ และต้องระวังที่จะไม่ติดกับดักความผิดพลาดในการเปรียบเทียบของ 2 สิ่งใดๆ ที่ไม่อยู่ในบริบทหรือในฐานที่จะเปรียบเทียบกันได้ (หรือตามสำนวนฝรั่งว่า อย่าเอาแอปเปิ้ลไปเปรียบเทียบกับส้มนั่นเอง) เพราะค่าสัมประสิทธิ์จินี่ของแต่ละประเทศนั้น ถูกคำนวณขึ้นมาจากการแบ่งกลุ่มคนในประเทศออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แต่ทุกกลุ่มก็ยังอยู่ในประเทศเดียวกัน ดังนั้น เราจึงต้องตระหนักถึงข้อจำกัดในการนำไปใช้เปรียบเทียบในมิติที่เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักความผิดพลาดของการเปรียบเทียบแอปเปิ้ลกับส้มนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ การที่เราจะสามารถหาทางออกของปัญหาได้หรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับว่า เราได้เริ่มจาก การทำความเข้าใจปัญหาอย่างถูกต้องก่อนหรือไม่ เราได้ใช้กรอบวิธีการวิเคราะห์ที่ถูกต้องหรือไม่ ผมคิดว่าการหาทางออกในเรื่องนี้ได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่ปัจจัย 3 ปัจจัยดังต่อไปนี้
ปัจจัยที่ 1 คือตัวชี้วัดที่ใช้อยู่มีปัญหาอะไรบ้าง ปัจจัยที่ 2 คือมายาคติในนโยบายที่เราคิดว่าจะใช้ได้ผลในต่างประเทศและ ปัจจัยที่ 3 คือนโยบายที่เราเคยใช้อย่างผิดพลาด
ในปัจจัยแรกนั้น นอกจากข้อจำกัดของค่าสัมประสิทธิ์จีนีที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกด้วยเช่น ปัญหาการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์จินี่ในแง่รายได้ ไม่ได้ครอบคลุมรายได้ของคนที่มีรายได้สูงอย่างครบถ้วน เพราะผู้ตอบแบบสอบถามมักไม่ยอมบอกความจริง เป็นต้น
นอกจากนี้ ค่าสัมประสิทธิ์จินี่ก็เป็นเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นเชิงสถิตมากกว่าที่จะเป็นในเชิงพลวัต จึงทำให้เราไม่สามารถใช้ดัชนีตัวนี้ในการคาดคะเนปัญหาในอนาคตได้ แม้ว่าเราจะรู้ว่าควรวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างก็ตาม เช่น การเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 นั้น ก็จะมีผลทำให้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำใหม่ๆ เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น หากเราไม่วางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบและรอบด้าน เราก็จะเจอกับต้นทุนในการแก้ปัญหาที่สูงมากกว่าที่จะมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า
หากเราไม่วางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบและรอบด้าน เราก็จะเจอกับต้นทุนในการแก้ปัญหาที่สูงมากกว่าที่จะมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า
ปัจจัยที่ 2 คือ มายาคติเรื่องนโยบายที่เคยใช้ได้ผล เช่น ระบบรัฐสวัสดิการซึ่งนักวิชาการจำนวนไม่น้อยได้ตั้งความหวังกับเครื่องมืออันนี้ไว้มาก คำถามคือว่า มันจะยังใช้ได้หรือไม่ หากเราพิจารณาจากกรณีของประเทศเดนมาร์ก โดยดูสถิติตัวเลขตั้งแต่ ค.ศ.1920 ถึง 1970 ก็จะพบว่า ประเทศนี้มีมูลค่าจีดีพีต่อหัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในช่วงเดียวกันนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ลดลงไปด้วย
หมายความว่า ระบบการศึกษาที่ดีของเดนมาร์กและระบบรัฐสวัสดิการได้ทำประโยชน์อยู่ 2 อย่าง คือทำให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นพร้อมๆ ไปกับการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากปี 1980 ไปแล้ว ปรากฏว่าความเหลื่อมล้ำก็กลับค่อยๆ ปรับตัวสูงมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เหตุผลส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า มีประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยเฉพาะจีนกับประเทศในเอเชียเข้ามาแย่งส่วนแบ่งส่วนเกินของกำไรจากการประกอบการที่เคยมีในอดีตและ ปัญหาแรงงานต่างชาติที่ย้ายเข้ามาแย่งงานและรับบริการสวัสดิการสังคมมากขึ้นนั่นเอง
ปัจจัยสุดท้ายคือ เรื่องการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เช่นกรณีล่าสุด เรื่องการเก็บภาษีที่ดิน แม้ว่าโดยรวมแล้วการเก็บภาษีที่ดินเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การที่เราเชื่อว่าการเก็บภาษีที่ดินรกร้างมีความจำเป็นเพื่อป้องกันการเก็งกำไรที่ดินนั้น กลับจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะในทางเศรษฐศาสตร์แล้วการเก็บที่ดินว่างเปล่าไว้กลับมีเหตุผลทางเศรษฐกิจตรงที่ว่า เจ้าของที่ดินมีต้นทุนในการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินสูงมากภายใต้อนาคตที่ไม่แน่นอนท การเก็บที่ดินเปล่าไว้ระยะเวลาหนึ่งก็เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ที่ดินให้ถูกต้องนั่นเอง
ดังนั้น การเก็บภาษีที่ดินที่รกร้างจึงอาจมีผลกระทบทางลบกับผู้ถือครองที่ดินที่เป็นรายเล็กรายน้อยมากกว่าเจ้าที่ดินรายใหญ่ในที่สุด สิ่งที่รัฐควรทำในเรื่องของภาษีที่ดินก็มี เช่น สำหรับพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งตะวันออกที่รัฐได้ลงทุนพัฒนานั้น ที่ดินในเขตนี้จะต้องถูกเก็บภาษีที่ดินที่แพงขึ้นในอนาคตเพราะว่าที่ดินเหล่านี้อยู่ในเขตเศรษฐกิจและเมืองที่ได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดเมือง (agglomeration) เพราะฉะนั้นจึงจะมีค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่เกินปกติอยู่ด้วย การถูกเก็บภาษีที่ดินที่สูงขึ้นในภายหลัง จึงไม่ไปลดความสามารถในการแข่งขันของพวกนี้แต่อย่างไรเป็นต้น
โดยสรุปแล้ว กุญแจสำคัญของทางออกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ก็คือการหาจุดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เจอนั่นเอง