สุ่มตรวจกว่า 300 ร้านค้า 'ไม่พบ' ขายหน้ากากอนามัยเกินราคา
"รองโฆษก ตร." ชี้จำหน่าย "หน้ากากอนามัยมือสอง" มีความผิดเตรียมดำเนินคดี 3 ผู้ต้องหา 3 ข้อหา ยันสุ่มตรวจเบื้องต้นกว่า 300 ร้านค้า ไม่พบการขายหน้ากากอนามัยเกินราคา
จากกรณีการปฏิบัติงานร่วมกันเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ของตำรวจ สาธารณสุขอำเภอ และฝ่ายปกครอง ทลายแหล่งรีไซเคิลหน้ากากอนามัยมือสอง เพื่อนำส่งจำหน่ายอีกครั้ง ในเขตพื้นที่ สภ.วิหารแดง จ.สระบุรี
วันนี้(3 มี.ค.63) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ได้รับรายงานเพิ่มเติมจาก สภ.วิหารแดง ว่า ตำรวจได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำความผิด พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาจำนวน 3 ราย แยกเป็นผู้ครอบครองสถานที่ในการก่อเหตุ 2 ราย และผู้นำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไปขายอีก 1 ราย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ.2474 มาตรา 4 “ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบอาชีพขายทอดตลาดหรือค้าของเก่าเว้นแต่จะได้รับอนุญาติ” ประกอบกับมาตรา 12 “ผู้ใดประกอบอาชีพขายทอดตลาดหรือค้าของเก่าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต” โทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
โดยในส่วนความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 หรือไม่นั้น ทางตำรวจจะประสานการปฎิบัติกับพาณิชย์จังหวัดเพื่อไปตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป
รอง โฆษก ตร. กล่าวต่ออีกว่า ฝากเตือนไปยังผู้ที่คิดจะกระทำการในลักษณะแบบนี้ ขอให้คำนึงถึงผลกระทบและตระหนักถึงความรับผิดชอบที่ควรมีต่อสังคม เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันในห้วงที่มีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดและการป้องกันไวรัสโควิด 19 นั้น ทำให้ประชาชนมีความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มมากขึ้น และไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน หากผู้ประกอบการ หรือผู้ใดคิดที่จะฉวยโอกาสกอบโกยเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทางตำรวจจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาด มิให้ผู้ใดฉวยโอกาสและซ้ำเติมพี่น้องประชาชน
อีกทั้ง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) มีมาตรการในการกำกับดูแลปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น จำนวน 3 มาตรการ ดังนี้ 1. มาตรการปราบปราม: ร่วมกับกรมการค้าภายใน จัดชุดปฏิบัติการเป็น 6 ชุด ออกตรวจสอบทุกพื้นที่และล่อซื้อจับกุมทุกวัน 2. มาตรการสืบสวน: การสืบสวน โดยทำการล่อซื้อผู้จำหน่ายทางอินเตอร์เนตและช่องทางอื่นที่เกี่ยวข้อง 3. มาตรการตรวจสอบและประชาสัมพันธ์: ได้ทำการตรวจสอบร้านค้า และแจกโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ จำนวน 326 แห่ง ผลการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบร้านที่มีการขายสินค้าเกินราคาและกักตุนสินค้า