Covid-19 คือ VUCA ที่ใหญ่ที่สุด
Covid-19 เป็นความเสี่ยงสูงสุดที่มนุษยชาติในยุคใหม่กำลังเผชิญ ไม่ต่างจากสงครามระดับโลก แม้จะมีการทำวิจัย รวมถึงได้รับความสนใจในสื่อต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษยชาติรับรู้ความจริงเกี่ยวกับเชื้อโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ด้วยความมั่นใจ 10% น้อยมาก
“ความไม่แน่นอนคือสิ่งที่แน่นอน” ตรรกะแห่งพุทธพจน์เป็นจริงเสมอ เพราะใดใดในโลกล้วนไม่จีรัง เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยต่างๆ ซึ่งความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้การคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจเพื่อวางแผนธุรกิจและการลงทุนทำได้ยากยิ่ง
และในปี 2020 นี้ มีหลากหลายเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความไม่แน่นอนสูงยิ่ง ทั้งในระดับโลกและในไทยเอง ทั้งเรื่องความเสี่ยงสงครามระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ภาวะฝุ่น PM 2.5 ปัญหางบประมาณล่าช้า ภาวะภัยแล้ง รวมทั้งสถานการณ์ที่น่าสลดใจในโคราชเมื่อเดือนที่ผ่านมา
แต่สถานการณ์ที่สำคัญ และเป็นความเสี่ยงหรือ VUCA อันได้แก่ Volatility หรือความผันผวน Uncertainty หรือความไม่แน่นอน Complexity หรือความซับซ้อน และ Ambiguity หรือความคลุมเครือต่อเศรษฐกิจที่สุด หนีไม่พ้นไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ Covid-19 ที่ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและจิต ชีวิตความเป็นอยู่ ภาคการผลิต การท่องเที่ยว รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมในทุกด้าน
สำหรับผู้เขียนแล้ว Covid-19 เป็นความเสี่ยงสูงสุดที่มนุษยชาติในยุคใหม่กำลังเผชิญ ไม่ต่างจากสงครามระดับโลก เพราะแม้ว่าจะมีการทำวิจัย รวมถึงได้รับความสนใจในสื่อต่างๆ มากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษยชาติรับรู้ความจริงเกี่ยวกับเชื้อโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ด้วยความมั่นใจ 100% น้อยมาก
เมื่อไข้หวัดนี้เริ่มรุนแรงขึ้นในจีน เมื่อเดือน ม.ค. นักวิเคราะห์หลายฝ่ายรวมทั้งผู้เขียนเองเปรียบเทียบไข้หวัดนี้กับโรค SARS ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2003 แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในปัจจุบันบ่งชี้ว่า โรคนี้รุนแรงกว่า SARS 10 เท่าเป็นอย่างน้อย และเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ง่ายและสูงกว่า ทำให้ผู้เสียชีวิตก็มีมากกว่าด้วย
และเมื่อความรุนแรงที่มากขึ้น ก็นำมาซึ่งการปิดเมือง คัดกรองและแบ่งแยกผู้ติดเชื้อ (Quarantine) ที่แม้ว่าจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ แต่ก็นำมาซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปิดตัวลง
ทั้งนี้ ผู้เขียนขอสรุป “สิ่งที่มนุษย์รู้ว่าไม่รู้” (Know unknown) 4 ประเด็น ดังนี้
(1) อัตราการแพร่เชื้อ (Reproductive Rate: R) ซึ่งเป็นอัตราที่บ่งชี้่ว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้กี่คน ซึ่งหากอัตรานี้มากเกิน 1 จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ซึ่งอัตราดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับ
(2) มาตรการกีดกันและแบ่งแยกผู้ป่วยทางสังคม (Social distancing) อันได้แก่การปิดสถานที่สำคัญและ Quarantine ผู้ป่วย ซึ่งประเทศที่ทำได้ดีและเด็ดขาดที่สุดได้แก่จีน โดยการที่จีนได้ปิดเมืองสำคัญในมณฑลหูเป่ย ทำให้โรคยังคงจำกัดในมณฑลนั้น และผู้ป่วยจีนนอกหูเป่ยมีไม่ถึง 20% ของผู้ป่วยทั้งหมด
(3) ความจริงต่างๆ ของโรค เช่น (3.1) เชื้อ Covid-19 จะมีอายุลดลงหรือไม่หากอุณภูมิค่อยๆ สูงขึ้น (ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะทำให้อัตราการติดเชื้อหรือ R ลดลง) (3.2) การป้องกันโรค เช่น การใส่หน้ากากกันฝุ่นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยประมาณ 2-10 ไมครอน จะสามารถกันเชื้อไวรัสที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.12 ไมครอนได้หรือไม่ หรือ (3.3) ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ ไม่มีไข้ สามารถเป็นพาหะให้ผู้อื่นได้หรือไม่ และ
(4) การคิดค้นวัคซีน จะสามารถทำเสร็จได้เมื่อไร และพอเพียงกับผู้ป่วยที่อาจขยายตัวเป็นวงกว้างหรือไม่ โดยเฉพาะในขณะนี้ที่เชื้อได้กระจายไปนอกจีน และทำให้ประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้ อิตาลี ญี่ปุ่น อิหร่าน รวมถึงสหรัฐและไทย เริ่มติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้น
ด้วยความไม่รู้ ไม่แน่ใจ 100% เหล่านี้ ทำให้การประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมถึงระยะเวลาที่โรคจะบรรเทาและยุติ ทำได้ยากยิ่ง ซึ่งสมมุติฐานทั้งสองสำคัญในการประมาณการผลต่อเศรษฐกิจ โดยในการประมาณการแบบ “สุดขั้ว” นั้น นิตยสาร The Economist ได้คาดการณ์โดยใช้ฐานงานวิจัยของธนาคารโลกว่า เป็นไปได้ที่ประชากรโลก 25-70% จะติดเชื้อดังกล่าว และทำให้เศรษฐกิจโลกในปีนี้ชะลอลง 2% (เหลือโต 1% จากที่ IMF เคยคาดไว้ที่ 3%)
แม้ว่าผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยกับ The Economist โดยเฉพาะมาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงอุณหภูมิโลกที่กำลังจะอุ่นขึ้นน่าจะมีส่วนช่วยลดทอนการติดเชื้อของผู้ป่วยได้ แต่ก็ยอมรับว่า สถานการณ์โรค ณ ขณะนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะรุนแรงกว่าคาด
และเมื่อสถานการณ์มีความเสี่ยง ไม่แน่นอน หนทางเดียวที่นักวิเคราะห์จะทำได้คือการทำScenario Analysis หรือการวิเคราะห์ทางเลือกของการเกิดเหตุการณ์ในอนาคต เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
ในงานวิจัยล่าสุดของ บล. ไทยพาณิชย์ ได้ทำ Scenario Analysis โดยมีปัจจัยสำคัญได้แก่ (1) ระยะเวลาของการระบาด และจำนวนผู้ติดเชื้อ (2) การกลับมาระบาดเป็นรอบที่สองในจีน หลังการเปิดเมืองและสถานที่ทำงานต่าง ๆ และ (3) การปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตสำคัญ รวมถึงกิจกรรมสำคัญระดับโลกเช่น โอลิมปิคในญี่ปุ่น โดยแบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ ได้แก่ กรณีฐาน ปานกลาง และรุนแรง
ในกรณีฐาน เศรษฐกิจของประเทศหลักทุกประเทศจะยังไม่ถึงขั้นถดถอย แต่จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและประเทศหลักโตต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี โดยจีนจะชะลอตัวรุนแรงในไตรมาส 1 และฟื้นตัวบ้างในไตรมาสที่เหลือ ขณะที่เศรษฐกิจอื่นๆ เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และไทย จะชะลอน้อยกว่าแต่ยาวนานกว่า
ในสถานการณ์ปานกลางนั้น เศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแออย่างยุโรปและญี่ปุ่น จะเผชิญกับภาวะถดถอย เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่เปราะบางกว่า ขณะที่สหรัฐและจีนยังพอจะขยายตัวได้ ส่วนไทยอาจไม่ขยายตัวเลย แต่ก็ยังไม่ถึงกับถดถอย
ขณะที่สถานการณ์เลวร้ายสุดนั้น เศรษฐกิจโลกอาจตกต่ำเช่นเดียวกับสมัยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ที่ไม่ขยายตัว) เช่นเดียวกับสหรัฐ ขณะที่ยุโรป ญี่ปุ่น และไทยหดตัว ส่วนจีนชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั้งสามกรณีนั้น เราจะเห็นมาตรการผ่อนคลายทางการเงินการคลังขนานใหญ่ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
เมื่อเผชิญกับ VUCA ที่ใหญ่ที่สุด สิ่งที่ภาคธุรกิจจะทำได้คือการบริหารจัดการแบบ VUCA Management 4 ประการ คือ (1) จะต้องศึกษาหาความรู้ถึงสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงคาดการณ์เป็นกรณีต่าง ๆ (Scenario) (2) ต้องเตรียมพร้อม รวมทั้งมีแผนฉุกเฉินรองรับ (3) ต้องกระจายความเสี่ยงไม่ปักใจเชื่อว่าเหตุการณ์จะเป็นดังที่คาดไว้ 100% และ (4) อาจจำเป็นต้องทำประกันความเสี่ยง เพื่อลดโอกาสสูญเสีย
ผู้อ่านทุกท่าน พร้อมรับมือกับ Biggest VUCA of all แล้วหรือยัง
[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]