‘โควิด-19’ทุบค้าปลีกทรุด จี้รัฐหนุนกู้วิกฤติชู 'ช้อปช่วยชาติ-มาตรการภาษี'
“สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” และภาคีเครือข่ายค้าปลีกทั่วประเทศ ร่างแนวทางเร่งด่วน 4 มิติ เสนอภาครัฐหนุนมาตรการช่วยเหลือในช่วงไตรมาส 2 และ 3 มุ่งกระตุ้นการบริโภค-บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายนิติบุคคล-การจ้างงาน-สร้างความความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว
คมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด-19 สมาคมฯ และภาคีค้าปลีกทั่วประเทศ ขอเสนอมาตรการที่จำเป็นให้รัฐบาลช่วยเหลือและเยียวยา เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ผู้บริโภค ประคองธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่ค้าปลีกค้าส่งให้อยู่รอด รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งให้สามารถจ้างงานต่อไปได้ โดยมีข้อเสนอเร่งด่วน 4 มิติ!!
มิติแรก “การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ”
1.เสนอให้นำโครงการ “ช้อป ช่วย ชาติ” กลับมาอีกครั้ง โดยขยายวงเงินการบริโภคจากเดิม 15,000 บาท เป็น 50,000 บาท และกำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 30 ก.ย.2563 โดยไม่มีข้อจำกัดกลุ่มสินค้าหรือประเภทธุรกิจ
“ช้อปช่วยชาติ เป็นโครงการกระตุ้นการจับจ่ายทั่วไปของผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนที่เป็นผู้เสียภาษีเงินได้ ที่จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ ชิม ช้อป ใช้ กระตุ้นการจับจ่ายผู้บริโภคในฐานล่าง ที่นำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันเท่านั้น จึงเสนอให้มีการมอบเงินจำนวนหนึ่งให้ผู้บริโภคที่ลงทะเบียนได้นำไปใช้ซื้อสินค้า โดยเปิดให้ร้านค้าทุกร้านเข้าร่วมผ่าน โครงการ ชิม ช้อป ใช้ ด้วยเช่นกัน"
2.เสนอโครงการ “คืนภาษีนำเข้า Duty Tax Refund” สำหรับสินค้านำเข้าเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้ทั้งลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยว กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. เนื่องจากอัตรากำแพงภาษีสินค้านำเข้าของไทยสูงกว่าประเทศอื่น 25-40% เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจมาเที่ยวหลังจากสิ้นสุดสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และจูงใจนักช้อปชาวไทยที่นิยมชอปปิงสินค้าแบรนด์เนมในต่างประเทศหันกลับมาซื้อสินค้าในประเทศแทน จะทำให้เม็ดเงินมหาศาล!! กลับสู่ประเทศไทยได้
3.เสนอภาครัฐพิจารณาลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 5% เป็นการชั่วคราว กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.2563 เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพผู้บริโภค และ 4.พิจารณายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้สุทธิจากเดิม 150,000 บาทแรก เป็น 300,000 บาทแรก สำหรับปีภาษี พ.ศ.2563
มิติที่สอง “การบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายนิติบุคคล”
1.เสนอให้พิจารณายืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลประจำปี พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้ชำระภายในเดือนพ.ค. ไปเป็นเดือน ส.ค. และพิจารณายืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลกลางปี พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้ชำระภายใน ส.ค. ไปเป็น ธ.ค.2563
2.เสนอให้นิติบุคคลที่ต้องลงทุนซื้อหรือเช่าอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง แจ้งเตือนและเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ใช้ในจุดคัดกรอง อาทิ กล้องอินฟราเรดจับอุณหภูมิ เครื่องวัดอุณหภูมิสแกน อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ก่อนการคำนวณภาษี 3.เสนอให้พิจารณาลดอัตราค่าน้ำ ค่าไฟ ต่อหน่วย ให้แก่ นิติบุคคล กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.2563
มิติที่สาม “การบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายการจ้างงาน”
1.เพื่อชะลอการลดกำลังคน การยกเลิกชั่วโมงล่วงเวลา (OT) ตลอดจน การเลิกจ้างงาน อันเนื่องจากผลกระทบวิกฤติโคโรนา ทั้งเพื่อให้สามารถจ้างแรงงานเสริมเพื่อรับมือกับแรงงานที่อาจขาดแคลนเนื่องจากเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสนี้ด้วย
“สมาคมฯ เสนอให้กระทรวงแรงงาน ประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง เพื่อที่ภาคธุรกิจสามารถยืดหยุ่นในการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้อย่างถูกกฎหมาย โดยอาจประกาศอนุญาตให้จ้างงานรายชั่วโมงเป็นช่วงระยะเวลา 6-12 เดือน”
2.เสนอให้สำนักงานประกันสังคม พิจารณาลดภาระค่าใช้จ่ายในการสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้างในช่วงวิกฤตินี้ โดยพิจารณายกเว้นเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเป็นการชั่วคราว จนถึง 31 ธ.ค.2563
3.นโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อให้ภาคธุรกิจยืดหยุ่นการจ้างได้เพิ่มขึ้น จึงขอให้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราชดเชยภาษีที่นิติบุคคลสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเดิมหักได้เพียง 15,000 บาท/คน เป็นหักได้สูงสุด 50,000 บาท/คน เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีความรู้ความสามารถมีโอกาสได้จ้างงานในช่วงวิกฤติ ทั้งขอให้พิจารณาให้ผู้สูงอายุสมัครประกันสังคมได้ เพราะปัจจุบันผู้สูงอายุไม่มีหลักประกัน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำประกันชีวิตหรือสุขภาพเอง
มิติสุดท้าย "สร้างความความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว"
1.ภาคค้าปลีกค้าส่งจะร่วมมือกับภาครัฐ รณรงค์ให้ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ทำ “Big Cleaning” พ่นสเปรย์ด้วยยาฆ่าเชื้อโรคในสถานประกอบการครั้งใหญ่พร้อมเพรียงกัน โดยมีกระทรวงสาธารณสุขรับรองมาตรฐาน เริ่มจากกรุงเทพฯ ขยายไปจังหวัดเป้าหมายของนักท่องเที่ยว ซึ่งรัฐ-เอกชน ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนและประเทศเป้าหมายการท่องเที่ยวของไทย
2.ภาครัฐต้องสนับสนุนให้ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีก และแหล่งท่องเที่ยว ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง การแจ้งเตือน และเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสถานประกอบการ ซึ่งเสมือนสถานที่สาธารณะ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการแล้ว อาทิ กล้องอินฟราเรดจับอุณหภูมิ เครื่องวัดอุณหภูมิสแกน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องโดยนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ตามข้อเสนอข้างต้น