การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โควิด-19” กลายเป็นปัจจัยหลักที่กำลังฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ หลายธุรกิจต้องหยุดชะงักจากผลกระทบของไวรัสที่สถานการณ์ลากยาวมากว่า 2 เดือน และยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าจะคลี่คลายเมื่อไหร่
ภาคการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปแทบจะทันที โดยเฉพาะคนจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย หลังรัฐบาลปักกิ่งออกคำสั่งประกาศห้ามบริษัททัวร์นำนักท่องเที่ยวออกนอกประเทศ เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส
แน่นอนว่าเมื่อท่องเที่ยวประสบปัญหาก็ส่งผลกระทบไปยังธุรกิจที่ต่อเนื่องทันที ไล่มาตั้งแต่สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว ขนส่ง ฯลฯ ตอนนี้เดือดร้อนไปตามๆ กัน ไม่มีรายได้ ขาดสภาพคล่องในการขับเคลื่อนธุรกิจ หลายบริษัทชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะรายจ่ายแต่ละเดือนไม่น้อย จึงต้องตัดสินใจเลิกจ้างพนักงาน หรือ พักงานชั่วคราว ไปจนถึงขั้นต้องปิดกิจการ
หลายธุรกิจออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ อย่างเช่นธุรกิจสายการบินที่กำลังประสบปัญหาหนัก หลังการเดินทางทั่วโลกแทบหยุดชะงักจากพิษไวรัส หลายสายการบินต้องหยุดให้บริการในเส้นทางบินที่เป็นพื้นที่เสี่ยง ส่วนผู้โดยสารขอยกเลิกหรือเลื่อนไฟลท์บินจำนวนมาก จนกระทบรายได้เสียหายหนัก
ที่ผ่านมา ครม. ไฟเขียวออกมาตรการมาช่วยเหลือแล้ว 1 ชุด ด้วยการลดภาษีน้ำมันเครื่องบินสำหรับเที่ยวบินในประเทศ เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร จากเดิมที่ 4.726 บาทต่อลิตร ไปจนถึง 30 ก.ย. 2563 แต่ดูเหมือนว่าอาจยังไม่เพียงพอ จนเป็นที่ผ่านมาของมาตรการชุดใหม่ที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ในวันนี้ (6 มี.ค.) หลังได้หารือกับผู้แทนสายการบินในประเทศถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
สำหรับชุดมาตรการที่เตรียมเสนอมีหลายส่วน เริ่มตั้งแต่ให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT และ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ลดค่าธรรมเนียมการลงจอด (Landing) และค่าจอดเครื่องบิน (Parking fee) ลง 50% ให้กับสายการบินที่บินในประเทศ และสายการบินระหว่างประเทศในเส้นทางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, อิหร่าน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน เป็นเวลา 9 เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย. -31 ธ.ค. 2563
ให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ลดค่าบริการจราจรทางอากาศเที่ยวบินในประเทศ 50% เที่ยวบินระหว่างประเทศ 20% ใน 11 เส้นทางที่ได้รับผลกระทบ โดยได้รับส่วนลดทั้งสายการบินของไทยและสายการบินต่างประเทศ ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมการเดินทางเข้าและออกนอกประเทศ 5 บาทต่อผู้โดยสาร หรือ จากเดิม 15 บาท เหลือ 10 บาทต่อผู้โดยสาร สำหรับ 11 เส้นทางบินที่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ เสนอให้สนามบินต่างๆ พิจารณาลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มีผลต่อต้นทุนของสายการบินสัญชาติไทย ซึ่งรวมไปถึงค่าเช่าพื้นที่ภายในสนามบิน รวมทั้ง ขยายเวลาลดภาษีน้ำมันเครื่องบินที่จะสิ้นสุด 30 ก.ย. 2563 ออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 ดูจากมาตรการแล้วถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการท่ามกลางภาวะวิกฤตเช่นนี้ แต่สุดท้ายแล้วจะนำมาใช้ทั้งหมดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับที่ประชุม ครม.
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในแนวทางที่จะให้ ทอท. ลดค่าธรรมเนียมลงจอดและค่าจอดเครื่องบินลง 50% สำหรับสนามบินทั้ง 6 แห่ง ของ ทอท. ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, หาดใหญ่, เชียงใหม่ และแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ถือเป็นการเฉือนรายได้ ทอท. อีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้บอร์ดพึ่งมีมติลดค่าเช่าพื้นที่สนามบินเพื่อช่วยคู่ค้าและผู้ประกอบการ กระทบรายได้ไปแล้วหลายหมื่นล้านบาท
ปัจจุบันรายได้จากค่าธรรมเนียมลงจอดและค่าจอดเครื่องบินในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 15% ของรายได้รวม ดังนั้น หากมาตรการนี้ผ่าน ครม. จะกระทบรายได้หายไปอีกก้อนหนึ่ง โดย บล.เอเซีย พลัสระบุว่า หากต้องลดค่าธรรมเนียมจริงจะกระทบรายได้บริษัทราว 3.3% และกระทบกำไร 700-800 ล้านบาท หรือ ราว 3.8% ของกำไร แต่มองว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจึงแทบไม่กระทบมูลค่าพื้นฐาน ราคาหุ้นที่ลดลงเป็นจังหวะเข้าลงทุนระยะยาว
ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ประเมินว่า กระทบกำไรสุทธิงวดปี 2563/2564 และ 2564/2565 ลดลง 3% และ 1.5% ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อรวมกับการลดค่าเช่าพื้นที่ให้คิงเพาเวอร์ และปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่ลดลงมากจะทำให้ประมาณการผลประกอบการปี 2563/2564 และ 2564/2565 ลดลง 3-5% และ 14-15% ตามลำดับ