สายการบินงัดกลยุทธ์ สยบ 'COVID-19'
สำรวจกลยุทธ์หนีตายของสายการบินต่างๆ หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (COVID-19) ไปเต็มๆ
โดยปกติเมื่อประเทศปลายทางเกิดโรคระบาด ภัยพิบัติ หรือความขัดแย้ง สายการบินจะมีกลยุทธ์มาตรฐานเพื่อรับมือ ถ้าไม่ลดราคาบัตรโดยสารก็เปลี่ยนเส้นทางไปในพื้นที่ที่ไม่มีปัญหา แต่คราวนี้ไวรัสโคโรน่า 2019 แพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วโลก การรับมือของสายการบินต้องยุ่งยากยิ่งขึ้น
"โควิด-19" เกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่นทางภาคกลางของจีนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ตอนนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่นอกประเทศมากกว่าในจีนแล้ว ส่งผลให้ไม่มีใครอยากเดินทางไปต่างประเทศ หลายสายการบินใช้วิธีไม่เก็บค่าธรรมเนียมเปลี่ยนแปลงตั๋ว หวังจูงใจนักเดินทางที่ยังลังเลให้รอจนมั่นใจว่า ที่ไหนบ้างที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ควบคุมได้แล้ว และเส้นทางไหนตั๋วถูกที่สุด
ขณะเดียวกันตั๋วราคาถูกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ช่วยปลุกความต้องการเดินทางได้ในอดีต แซมวล เองเกล ที่ปรึกษาด้านการบินกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ถึงตอนนี้ตั๋วถูกอย่างเดียวเท่านั้นที่ใช้ได้ผลกับอารมณ์ของผู้คน
สัปดาห์ก่อน "เจ็ตบลู แอร์เวย์ คอร์ป" ที่ไม่ได้บินมาเอเชีย เป็นสายการบินแรกที่เปิดให้เปลี่ยนตั๋วได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โจแอนนา เกอราตี ประธานเจ็ตบลูเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า บริษัทพยายามนึกถึงใจเขาใจเรา
“ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นลูกค้าเราอยากได้อะไร ก็จองตั๋วช่วงพักฤดูใบไม้ผลิซะเลย”
หลังจากนั้นสายการบินใหญ่ของสหรัฐก็เอาอย่างด้วยการยกเลิกค่าธรรมเนียมเลื่อนตั๋วไปยังหลายปลายทาง จากเดิมที่เจ็ตบลูยอมให้เปลี่ยนเที่ยวบินเฉพาะปลายทางที่โควิด-19 ระบาดหนักเท่านั้น
ในละตินอเมริกา "วีวาแอร์" สายการบินราคาประหยัดของเปรู จัดประชุมคณะกรรมการบริหารเมื่อวันพุธเพื่อหารือเรื่องมาตรการรับมือ แต่ก็ไม่ได้เสนอมาตรการรับรองเรื่องการคืนเงิน เหล่านักเดินทางกล่าวว่า นโยบายที่วีวาแอร์ออกมานั้นไม่เพียงพอ
“ดิฉันเข้าใจว่าตอนนี้เกิดคำถามมากมายกับอุตสาหกรรมการบินว่าจะมีมาตรการอย่างไร แต่ดิฉันไม่รู้สึกว่า นโยบายเหล่านี้จะเอื้อประโยชน์ให้ลูกค้าอย่างแท้จริง” อาแมนดา เอลแมน-โคล์บ จากชิคาโก ผู้มีแผนพาครอบครัวไปเที่ยวยุโรปในเดือน ส.ค.ให้ความเห็น
ไม่ใช่แค่นักเดินทางสหรัฐเท่านั้นที่ไม่อยากไปต่างประเทศ สมาคมเดินทางสหรัฐ คาดการณ์เมื่อวันอังคาร (3 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า การเดินทางขาเข้าจากนานาชาติมายังสหรัฐจะลดลง 6% ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าด้วยจากความกังวลเรื่องโควิด-19 ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2550-2551
สายการบินใหญ่ของสหรัฐมีเครื่องบินลำตัวกว้างพิเศษในฝูงบินอยู่แล้ว เมื่อต้องระงับเที่ยวบินไปจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอิตาลีตอนเหนือไปแล้ว สายการบินสหรัฐก็ใช้เครื่องบินเหล่านั้นบินเส้นทางในประเทศ
ตัวอย่างเช่น "อเมริกันแอร์ไลน์" ใช้เครื่อง 787 ดรีมไลเนอร์ บินจากชิคาโกไปซานฟรานซิสโก แทนเครื่องบินลำตัวแคบที่ใช้ตามปกติอย่างโบอิง 737 หรือแอร์บัสเอ 321
เมื่อวันอังคาร สายการบินใหญ่สุดของยุโรปเตือนว่า การระบาดของโควิด-19 กำลังบั่นทอนการเติบโต โดย ไมเคิล โอเลียรี ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) "ไรอันแอร์" คาดการณ์ว่า การจองตั๋วลดลงอย่างมากใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าก่อนจะกลับมาฟื้นตัว
“หลังอีสเตอร์ถ้าอะไรๆ ลงตัว อุณหภูมิในยุโรปเพิ่มสูง ผมคิดว่าการแพร่ระบาดของไวรัสจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ถึงเวลานั้นสายการบินจะโหมส่งเสริมการขาย ที่จะดึงคนกลับมาเดินทางได้อย่างรวดเร็ว” ซีอีโอ ไรอันแอร์ กล่าว
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีข้อเสนอแบบนี้เช่นกัน "แอร์เอเชียเอ็กซ์" สายการบินราคาประหยัดจากมาเลเซีย ที่มีปัญหาการเงินตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จัดโปร 499 ริงกิต ตั๋ว1 ปีไม่จำกัดเที่ยวไปออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย ไม่รวมภาษีและค่าธรรมเนียมในแต่ละเที่ยว เป็นความเคลื่อนไหวที่แม้แต่เบนยามิน อิสมาอิล ซีอีโอ ต้องบอกว่า “ไม่เคยมีมาก่อน”
ด้านเที่ยวบินที่ไม่เจอคำสั่งห้ามเดินทางค่าโดยสารก็ลดลงด้วย ข้อมูลจากเว็บไซต์จองตั๋วเครื่องบิน “สกายสแกนเนอร์” ชี้ว่า เที่ยวบินจากออสเตรเลียไปลอสแองเจลิสถูกลง 25% ในช่วง 3 สัปดาห์ถึงวันที่ 26 ก.พ. เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดน่าจะเป็น "เวียดนามแอร์ไลน์" ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนเสนอโปร 0 ดอลลาร์จากโฮจิมินห์ซิตี้ไปกัวลาลัมเปอร์และสิงคโปร์ ไม่รวมภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.
“ที่ผ่านมาสายการบินแทบจะไม่ค่อยลังเลลดราคาตั๋วเพื่อให้ได้ยอด สิ่งหนึ่งที่เรารู้เกี่ยวกับความต้องการเดินทางทางอากาศคือ สามารถกระตุ้นได้ง่ายมากๆ” ฮันเตอร์ เคย์ นักวิเคราะห์จากบริษัทโวลฟ์รีเสิร์ชให้ความเห็น