แจกเงินพยุงเศรษฐกิจ หลักเกณฑ์ต้องชัดเจน
มาตรการแจกเงินของรัฐบาลปัจจุบันเพื่อหวังพยุงเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะในปี 2552 เคยมีมาตรการในลักษณะเดียวกันออกมาแล้ว แต่ในครั้งนี้อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป และเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องกำหนดเกณฑ์ผู้ที่จะได้รับสิทธิให้มีความชัดเจน
รัฐบาลกำลังจะแจกเงินให้ประชาชนเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการแจกเงินให้ประชาชนในช่วงเวลาเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2552 สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชื่อเช็คช่วยชาติ เพื่อเป็นการพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติซับไพร์ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการเงิน ตลาดทุนและการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะการปรับตัวที่รุนแรงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและการส่งออกที่ติดลบเกือบ 10%
เศรษฐกิจปี 2552 ติดลบ 2.5% หดตัวลงเป็นครั้งแรกหลังจากการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งนำมาสู่การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องการเห็นผลทันทีด้วยการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินให้ประชาชนคนละ 2,000 บาท ให้กับประชาชน 3 กลุ่ม คือ ผู้อยู่ในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ไม่ถึง 15,000 คน ต่อเดือน ผู้ถูกเลิกจ้างและอยู่ระหว่างรับเงินประกันการว่างงาน และกลุ่มสุดท้ายข้าราชการบำนาญ เพราะในช่วงเวลานั้นประชาชนไม่กล้าใช้เงิน
ทันทีที่มีการแจกเช็คให้กับประชาชนก็มีการใช้จ่ายเงินทันที ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลปัจจุบันเลือกใช้วิธีการแจกเงินโดยตรงให้กับประชาชนเพื่อให้เงินหมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจทันที แต่วิธีการคงต่างกันในรายละเอียด เพราะเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ยังไม่มีระบบการลงทะเบียนทำให้รัฐบาลขณะนั้นต้องจ่ายเงินให้กับผู้อยู่ในระบบประกันสังคมและข้าราชการบำนาญที่มีข้อมูลสามารถยืนยันรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ต่อเดือนได้ ส่วนกลุ่มอาชีพอิสระไม่มีฐานข้อมูลในระบบของรัฐ
ปัจจุบันระบบการลงทะเบียนและฐานข้อมูลของส่วนราชการดีขึ้น โดยเฉพาะระบบการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยที่มีการดูแลฐานข้อมูลของประชาชน 14 ล้านคน ซึ่งคาดหวังว่าจะทำให้การจ่ายเงินให้ประชาชนครั้งนี้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ประกอบอาชีพอิสระที่กระทรวงการคลังประเมินว่ามีไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน และเป็นกลุ่มที่ควรได้รับสิทธิการรับเงินดังกล่าว
ที่ผ่านมายังมีปัญหาผู้ที่ไม่ควรอยู่ในระบบสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยแต่กลับมีบัตร ซึ่งกระทรวงการคลังพยายามแก้ปัญหานี้เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณคุ้มค่ามากที่สุดและตรงเป้าหมายมากที่สุด ซึ่งการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังดำเนินการก็ต้องกำหนดเกณฑ์ของผู้ที่จะได้รับสิทธิให้มีความชัดเจน และที่สำคัญต้องเป็นมาตรการระยะสั้นที่นำมาใช้เฉพาะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเท่านั้น