หุุ้นไทย ‘ดิ่งหนัก’ ติดอันดับ 7 ของโลก 'แอลทีเอฟ' เทขาย-ไร้เม็ดเงินลงทุนยาวพยุง

หุุ้นไทย ‘ดิ่งหนัก’ ติดอันดับ 7 ของโลก 'แอลทีเอฟ' เทขาย-ไร้เม็ดเงินลงทุนยาวพยุง

บล.เอเซียพลัส ชี้หุ้นไทยปีนี้ร่วงหนักติดอันดับ 7 ของโลก เหตุไร้เม็ดเงินลงทุนยาวพยุงช่วงปรับฐาน แถมถูกแรงขายกองทุนแอลทีเอฟ 5.3 หมื่นล้านบาทช่วง 2 เดือนแรก แต่เชื่อดัชนีผ่านจุดต่ำสุดแล้วที่ 1,317.45 จุด เหตุสะท้อนข่าวลบมากแล้ว รัฐบาลเตรียมออกมาตรการกร

ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยวานนี้ (6 มี.ค.)แกว่งตัวในแดนลบตลอดทั้งวันตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกจากความกังวลแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) กดดันดัชนีปิดที่ 1,364.57 จุด ลดลง 26.26 จุด หรือ 1.89 % มูลค่าซื้อขาย 52,201.99 ล้านบาท 

     นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ1,256.09 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 3,435.56 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 109.28 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิ 4,800.93 ล้านบาท

      นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า หุ้นไทยร่วงตามตลาดหุ้นทั่วโลกจากความกังวลแพร่ระบาดโควิด-19 นอกประเทศจีนมากขึ้นทั้งในแถบอเมริกาและยุโรปมากขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินไหลจากตลาดหุ้นเข้าตลาดพันธบัตร(บอนด์)ต่อเนื่อง

สำหรับระยะสั้นตลาดหุ้นไทยจะผันผวนตามข่าวการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ระยะกลางและระยะยาวมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เพราะ ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย รัฐบาลไทยเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมองกรอบดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้า โดยมองแนวรับที่ระดับ 1,320 จุดแนวต้านที่ระดับ 1,400 จุด

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึง 5 มี.ค.2563 ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนติดลบทั้งสิ้น ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรงมากที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ของโลก (ข้อมูลจาก Bloomberg เปรียบเทียบดัชนีทั้งหมดทั่วโลก 94 ประเทศ) เนื่องจากตลาดหุ้นไทยขาดเม็ดเงินกองทุนรวมหุ้นระยะยาว( LTF) ที่คอยหนุนช่วงตลาดหุ้นปรับฐานและถูกกดันจากแรงขาย LTF ที่ซื้อสะสมมาเริ่มตั้งแต่ปี 2547- 2558 ซึ่งครบกำหนดอายุแล้วแต่ยังไม่ได้ขาย 1.4 แสนล้านบาท จากเม็ดเงินรวมทั้งหมด 3.8แสนล้านบาท

ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563มีแรงขายLTF กว่า 5.3 หมื่นล้านบาท เป็นการขายในเดือน ม.ค.จำนวน 1.36 หมื่นล้านบาท และเดือน ก.พ ขาย 3.9 หมื่นล้านบาท  ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับฐานแรงกว่าตลาดหุ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตามปัจจัยรุมเร้าต่างๆที่เข้ามาพร้อมกันกดดันดัชนีลงแรงมาก จึงเชื่อว่าดัชนีน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดที่ 1,317.45 จุด ไปแล้ว จาก4 เหตุผลคือ 1.ตลาดหุ้นสะท้อนปัจจัยลลบซึ่งทางฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัสได้ปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP)ปี 2563 จาก 2.8% ลงมาเหลือ 1.6% มาระยะหนึ่งแล้ว พร้อมกับเชื่อว่าปัญหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) น่าจะค่อยๆ ดีขึ้นเช่นเดียวกับทางประเทศจีน2. มูลค่า(Valuation) ตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ซึ่งบริษัทประเมินอัตรากำไรต่อหุ้น(EPS)ปีนี้ ของตลาด 85.59 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับความเห็นของนักวิเคราะห์ ( Consensus) ที่ 95 บาทต่อหุ้น หากนำมาคำนวณ Market Earning Yield Cap อยู่ที่5.5% ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตซับไพร์ม ปี 2551 แสดงให้เห็นว่า Valuationตลาด ณ ปัจจุบัน อยู่ในระดับที่น่าสนใจ

3.กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง งบประมาณปี 2563 เริ่มเบิกจ่ายได้แล้ว และรัฐเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง เพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมกับช่วยพยุงตลาดทุนให้มีโอกาสฟื้นขึ้น เพราะการปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม(SSF)เงื่อนไขใหม่ให้มีความคล้ายคลึงกับกองทุนศLTF จึงเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินขับเคลื่อนเข้ามาในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

4.กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงิน หลายๆประเทศเริ่มทยอยปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารกลางหรัฐ(เฟด)ลดดอกเบี่ยรอบพิเศษถึง 0.5% มาอยู่ที่ 1.25% รวมถึงเชื่อว่า วันที่25 มี.ค. 2563 คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง 0.25% มาอยู่ที่ 0.75%

สำหรับ 4 เหตุผลดังกล่าว รวมถึงฝากความหวังไว้กับประชาชนและภาครัฐน่าจะช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ ทำให้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยเองในปี 2563แม้จะผันผวนกว่าปกติ แต่น่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว