‘Upskilling’ ฝ่าเกมยาก PwC ชี้ทางรอดธุรกิจครอบครัว
ทางรอดของธุรกิจครอบครัวต้องอาศัยคนเก่งที่โดดเด่น ( Extraordinary) จึงจะสามารถเปลี่ยนองค์กรแล้วฝ่ากระแสคลื่นดิสรัปชั่นได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งความเก่งอย่างเหนือชั้นสร้างได้จากการ Upskilling เรียนรู้ทักษะใหม่ๆที่สอดคล้องกับโลกยุคจิทัล
“นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย” หัวหน้าสายงาน Clients and Markets หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ทางรอดในโลกยุคดิจิทัลทำได้โดยพัฒนาทักษะต่างๆ ซึ่งมีทั้งการเสริมทักษะใหม่ (Upskilling) และการปรับปรุงพัฒนาทักษะที่เคยมีอยู่เดิม ( Reskilling) แต่ฟันธงว่าการ Upskilling ก็คือหนทางรอดที่ยั่งยืน
เขาได้ฉายภาพรวมของธุรกิจครอบครัวไทยในเวลานี้ว่ามีการส่งต่อถึงทายาทรุ่นที่สามแล้ว ขณะที่ผู้นำรุ่นใหม่ในยุคนี้กลับต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันและความท้าทาย ทั้งการเข้ามาของดิจิทัลที่สร้างผลกระทบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจ (Digital disruption) ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งภัยแล้ง มิหนำซ้ำยังเกิดการระบาดของโควิด-19 ฯลฯ
แน่นอนว่า หากเรื่องร้ายๆยืดเยื้อ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่สายป่านก็ไม่ยาว การบริหารจัดการไม่เป็นมืออาชีพ การบริหารต้นทุนยังทำได้ไม่ค่อยดี ฯลฯ ก็อาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ
คำแนะนำของ PwC ประเทศไทย ก็คือ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างทางรอดให้กับธุรกิจในระยะยาว องค์กรจำเป็นต้องเดินหน้าเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็น “องค์กรดิจิทัล” พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการ “ยกระดับทักษะ” ของผู้นำและบุคลากรทุกคนในองค์กร (Upskilling)
อะไรคือทักษะจำเป็นในอนาคต? คำตอบมีอยู่ 10 ทักษะ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์, ความฉลาดทางอารมณ์, ความคิดเชิงวิเคราะห์, การเรียนรู้แบบใฝ่รู้, การประเมินและการตัดสินใจ, การติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล, การเป็นผู้นำ, การเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายและวัฒนธรรม, เทคโนโลยี สุดท้ายคือความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง หมายเหตุว่าไม่มีทักษะใดที่สำคัญกว่ากัน ขึ้นอยู่กับเลือกให้เหมาะกับบริบทของแต่ละองค์กรเป็นสำคัญ
สำหรับนิพันธ์ เขาเองมองว่าทักษะที่มีความสำคัญต่อผู้นำยุคนี้ก็คือ ภาวะผู้นำ ( Leadership) จิตวิญญานของผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) รวมถึงทักษะเทคโนโลยี ถึงแม้ว่างานเทคโนโลยีจะสามารถว่าจ้างคนอื่นมาทำให้ได้ก็ตาม แต่สุดท้ายมันก็เหมือนการ “พึ่งจมูกคนอื่นหายใจ” ทางที่ดีทายาทธุรกิจ หรือเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องมีความรู้ มีความเข้าใจเทคโนโลยีพอสมควร
"การยกระดับทักษะแรงงานเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ทำได้หลายวิธี โดยผู้นำรุ่นใหม่ หรือแม้กระทั่ง พนักงาน สามารถอัพสกิลตัวเองได้ผ่านการเรียนรู้จากเว็บไซต์ แอพพลิเคชันต่าง ๆ หรือหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคตต่าง ๆ ในปัจจุบันก็มีคอร์สทางด้านดิจิทัลออนไลน์ที่บางมหาวิทยาลัยเปิดสอนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และอยากให้ผู้นำรุ่นใหม่และผู้นำธุรกิจตระหนักเสมอว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะเลวร้ายแค่ไหนแต่เราไม่สามารถหยุดที่จะพัฒนาตัวเองและองค์กรได้ การยกระดับทักษะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเราทุกคนเพื่อให้อยู่รอดและแข่งขันได้ในโลกทำงานยุคดิจิทัล"
พร้อมกันนี้ยังได้เปิดรายงานผลสำรวจ “NextGen Survey 2019 ฉบับประเทศไทย” (เป็นส่วนหนึ่งของรายงานผลสำรวจ Global NextGen Survey 2019 ที่ถูกจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก) ผ่านการสำรวจความคิดเห็นผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ทั่วโลกจำนวนกว่า 950 ราย รวมทั้งผู้นำธุรกิจครอบครัวไทยจำนวน 31 ราย โดยรายงานระบุถึงการเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัล (Digitalisation) ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญภายใต้การบริหารของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ เพื่อพลิกโฉมให้กิจการสามารถก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลง และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งนี้มีผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ถึง 83% ที่ระบุว่า การมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมกับยุคดิจิทัลเป็นสิ่งที่พวกเขาจะให้ความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ การดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ และการเสริมสร้างทักษะให้กับพนักงานที่ 62% เท่ากัน
นอกจากนี้ 79% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ของไทยยังกล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัลจะช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจครอบครัว และช่วยให้กิจการสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ซึ่งการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับธุรกิจในยุคนี้ แต่วิธีการที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความความสำเร็จต่างหากคือ ความท้าทายใหม่ที่ธุรกิจครอบครัวของไทยหลายรายยังค้นหาหนทางไม่พบ
"เห็นได้ชัดว่าผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ผู้บริหารรุ่นใหม่มีความต้องการที่จะเปลี่ยนผ่านองค์กรของตนไปสู่ดิจิทัลอย่างจริงจัง เพราะส่วนใหญ่เติบโตมากับเทคโนโลยีและมีความคุ้นเคยกับการใช้นวัตกรรมต่าง ๆเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ ธุรกิจครอบครัวต้องจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งหาสมดุลระหว่างการขยายการเติบโตของกิจการและจัดการกับความท้าทายเพื่อนำพาธุรกิจให้สามารถฝ่าวิกฤติต่าง ๆ ไปได้อย่างราบรื่นด้วย"
ซึ่งจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงไปจากผลลัพธ์ของการนิ่งเฉย ที่จะยิ่งส่งผลเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล เพราะที่สุดทุกองค์กรไม่เฉพาะธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเป็นผลดีกับองค์กรในระยะยาว ซึ่งผลสำรวจยังพบว่าองค์กรที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานส่วนต่าง ๆ จะสามารถบริหารจัดการเรื่องต้นทุนได้ดีกว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานได้มากขึ้นอีกด้วย
สุดท้ายนิพันธ์กล่าวถึง “PwC Thailand's NextGen Club” คลับสำหรับผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจ ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้นเป็นรุ่นที่สอง (หลังจากที่จัดรุ่นแรกในปีที่ผ่านมาแล้วประสบความสำเร็จด้วยดี)
โครงการดังกล่าวถือเป็นการคืนกลับสู่สังคมของ PWC ประเทศไทย คือไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายใดๆ โดยมีจุดประสงค์จะเพาะเมล็ดพันธุ์ที่สามารถเติบโตเป็นต้นไม้ที่เข้มแข็ง นำไปสู่เศรษฐกิจและประเทศชาติที่แข็งแกร่ง เนื่องจากตัวเลขความจริงนั้น ธุรกิจครอบครัวไทยมีมูลค่าราว 30 ล้านล้านบาท และเกินกว่าครึ่งของบริษัทใน SET50 เป็นธุรกิจครอบครัวและมีมูลค่าตลาดรวม 4.76 ล้านล้านบาท และธุรกิจครอบครัวไทยราว 90% กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ทายาทรุ่นที่สาม
อย่างไรก็ดี ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ว่าจะเป็นบุคลากร ,เวลา หรือสถานที่ PWC ประเทศไทย จึงต้องเลือกว่าจะใช้วิธีหว่านหรือค่อยๆเพาะทีละเมล็ดๆ สรุปก็เลือกแบบหลัง จึงมีข้อกำหนดว่าทายาทธุรกิจจำนวน 20 คนที่จะได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการนี้ต้องเป็นทายาทธุรกิจในธุรกิจที่มีขนาดพันล้านบาทขึ้นไป และประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับก็คือ การได้เข้าอบรมทักษะที่มีความจำเป็นสำหรับการแข่งขันธุรกิจในยุคดิจิทัล ได้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ PWC ที่มากประสบการณ์ , การได้พบปะแลกเปลี่ยนกับทายาทธุรกิจในอุตสาหกรรมที่แตกต่างหลากหลาย ,การได้เดินทางไปเยี่ยมชมสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก ฯลฯ ซึ่งผู้ที่สนใจก็เข้าไปหาข้อมูลเพิ่มที่ www.pwc.com/th